วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การถ่ายภาพให้ฉากหลังขาว

การถ่ายภาพฉากหลังสีขาว

หลายคนคงเคยเห็นภาพที่มีตัวแบบ แล้วก็มีฉากหลังเป็นสีขาว ซึ่งการถ่ายภาพในลักษณะนี้ มีประโยชน์สำหรับใช้ในหลายสถานการณ์ด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
  • การถ่ายภาพติดบัตร ไม่ว่าจะติดใบขับขี่ พาสปอร์ต ขนาด 1 นิ้ว, 2 นิ้ว อะไรทำนองนั้น
  • ถ่ายภาพทำวีซ่า โดยเฉพาะวีซ่าอเมริกา ต้องฉากหลังขาวสนิทเลย ไม่งั้นไม่ผ่านนะครับ
  • ถ่ายภาพเพื่อลงประกอบในเว็บ ที่เห็นภาพผู้สอน ปรากฏในบริเวณต่าง ๆ ในหน้าเว็บ
  • ไดคัทภาพ เพื่อนำไปตัดแปะในที่ต่าง ๆ เช่น หนังสือ นิตยสาร หรือนำไปซ้อน ๆ กันในฉากที่ต้องการ เป็นต้น
ภาพที่มีฉากหลังเป็นสีขาวนี้มีประโยชน์ในการนำไปใช้งานต่อยอดมาก เพราะถ้าฉากหลังเราเป็นต้นไม้ หรือวัตถุอื่น ๆ ซึ่งอาจมีสีที่เหมือนกับเสื้อผ้า หรือผม การที่จะตัดภาพเฉพาะตัวแบบไปใช้งานนั้น ทุกครั้งจะมีฉากหลังที่เราไม่ต้องการติดไปด้วย การใช้คุณสมบัติต่าง ๆ ของโปรแกรมแต่งภาพ เช่น Photo Shop เช่น Magic Wand ก็อาจใช้ไม่ได้ผลเท่าไหร่ หากต้องการใช้จริง ๆ ต้องมานั่งเสียเวลาไดคัทแบบแมนวล ซึ่งใครเคยทำงานพวกนี้ก็จะทราบว่า หากแต่งให้เนียน ๆ นั้น เสียเวลามากเหลือเกิน . . . 


วิธีการถ่าย

สำหรับการถ่ายภาพในลักษณะนี้ สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน สุดแต่ที่ช่างภาพแต่ละคนจะมีเทคนิคในการพลิกแพลงของตัวเอง วันนี้ ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงวิธีการคร่าว ๆ ของการถ่ายภาพโดยให้ฉากหลังเป็นสีขาว
  • การถ่ายในสตูดิโอ หากมีสตูดิโอสำหรับถ่ายโดยเฉพาะ เหมือนกับร้านถ่ายรูป ก็ทำได้ง่ายมากเลย เพียงแค่ใช้ฉากหลังสีขาว แล้วก็ยิงแหล่งกำเนิดแสงแรกใส่ฉากหลัง แหล่งกำเนิดแสงด้านซ้าย ด้านขวา ด้านหน้า สะท้อนทุกทิศทาง ถ่ายภาพยังไงฉากหลังก็ออกมาขาวจั๊วอยู่แล้ว พร้อมที่จะใช้งานได้ทันทีเลยครับ
  • การถ่ายนอกสตูดิโอ หากไม่มีสตูดิโอ และไม่มีอุปกรณ์มากมาย จะทำได้ยังไง สำหรับกรณีนี้ ผมขอแบ่งเป็น 2 กรณีแล้วกันครับ คือใช้แฟลช กับไม่ใช้แฟลชครับ
  • การถ่ายภาพให้ฉากหลังขาวโดยใช้แฟลชช่วย สามารถเลือกหาสถานที่ของฉากหลังซึ่งเป็นสีอ่อน เช่น สีฟ้า สีครีม หรือสีอะไรก็ได้ ที่สีไม่เหมือนเสื้อผ้า และสีไม่เข้มเหมือนเส้นผม จากนั้นใช้แฟลช 2 ตัว ตัวแรกยิงไปที่ฉากหลัง โดยเปิดความแรงแฟลชให้มาก ๆ หน่อย ความแรงของแฟลชจะเปลี่ยนสีอ่อน ๆ ของผนังให้กลายเป็นสีขาวโดยอัตโนมัติ เมื่อเจอแฟลชแรง ๆ ยิงเข้าใส่ ส่วนแฟลชอีกตัว ก็ยิงเบา ๆ เข้าที่ใบหน้าของตัวแบบ เพื่อลบเงามืดต่าง ๆ บนใบหน้าเท่านั้นเอง
5D Mark III + EF 85 1.2L II
การตั้งค่า: ISO 100, Aperture 2.8, Speed 1/200s, no Flash
  • การถ่ายภาพให้ฉากหลังขาวโดยไม่ใช้แฟลช ซึ่งวิธีนี้อาจต้องถ่ายย้อนแสงมาก ๆ หน่อย พยายามหามุมที่ไม่มีวัตถุสีเข้ม ๆ อยู่ข้างหลังตัวแบบ แล้วก็ปรับค่ากล้อง โดยการวัดแสงให้พอดีที่หน้าตัวแบบ ถ้าเป็นการย้อนแสงแรงมาก ๆ ฉากหลังก็จะขาวไปเอง . . . อนึ่ง หากมีผ้าขาว หรือกระดาษสีขาวแผ่นใหญ่ ๆ ซึ่งไม่ต้องเรียบ ก็สามารถนำมาวางเป็นฉากหลังได้เหมือนกันนะครับ โดยแสงอาทิตย์จะส่องทะลุผ่านผ้าขาวมาได้บางส่วน และเราก็ปรับแสงโดยการถ่ายย้อนแสงจากข้างหน้าไป ซึ่งแสงจากข้างหน้าที่เข้าตัวแบบ อาจเป็นแสงประดิษฐ์ เช่น หลอดไฟในบ้าน หรืออะไรก็ตาม หรืออาจใช้รีเฟล็กเตอร์เพื่อทำการสะท้อนแสงก็ได้  
5D Mark III + EF 85 1.2L II
การตั้งค่า: ISO 100, Aperture 2.8, Speed 1/250s

5D Mark III + EF 85 1.2L II
การตั้งค่า: ISO 100, Aperture 2.8, Speed 1/125s

จากภาพล่างสุด จะเห็นว่าสีฟ้าของผนังยังคงมีเหลืออยู่เล็กน้อย พอมองเห็น วิธีการก็คือ เข้าไปปรับสีที่ Advanced Color แล้วลด Saturation ของสีฟ้าให้ต่ำที่สุด สีฟ้าก็จะหมดไปจากภาพ ดังแสดงในภาพด้านล่าง


ส่วนพวกรอยดำ ๆ ด่าง ๆ ที่ปรากฏบนกำแพง ก็ใช้เครื่องมือจำพวก Repair ซึ่งมีอยู่ในเกือบทุกโปรแกรม เพื่อลบจุดเหล่านั้นออกไป แล้วท้ายที่สุด ผมก็ใช้เครื่องมือเกี่ยวกับ Lighting เพื่อเร่งแสงบริเวณ Highlight ให้สว่างขึ้นไปอีกนิดนึง เพื่อทำให้ฉากหลังขาวขึ้นอีกหน่อย ก็จะได้ภาพดังแสดงด้านล่าง ทั้งหมดตกแต่งด้วย ACDSee นะครับ ไม่ได้ใช้ Photoshop แต่อย่างใด

ถ้าใครเก่ง Photoshop ภาพนี้ก็สามารถแต่งได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีการที่คล้ายกัน ไม่เกิน 2 นาทีเสร็จเรียบร้อยครับ . . . . ยังไงเพื่อน ๆ ก็ลองดูนะครับ แล้วจะเห็นว่า ไม่ยากเลย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น