วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แสงผีตากผ้าอ้อม

ผีตากผ้าอ้อม

ได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนที่เป็นเซียนถ่ายภาพ เค้าคุยให้ฟังว่า แสงผีตากผ้าอ้อมนี่ถ่ายภาพออกมาสวยที่สุด วันนี้เลยหาข้อมูลมาฝากเพื่อน ๆ


แสงผีตากผ้าอ้อม เป็นปรากฏการณ์ของแสงอาทิตย์ที่เห็นเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะทางทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำของบางวัน แสงที่เห็นจะมีสีส้มแดง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแสงสีขาวที่ถูกโมเลกุลของอากาศ แยกเป็นหลายสี แล้วแผ่กระจายไปในทิศทางต่าง ๆ แสงที่มีความยาวคลื่นสั้น เช่น แสงสีน้ำเงินจะแผ่กระจายสู่ท้องฟ้ามาก จึงทำให้ฟ้ามีสีน้ำเงิน แต่แสงที่มีคลื่นยาว เช่น แสงสีแดงจะถูกบรรยากาศทำให้แผ่กระจายน้อยจึงส่องมาเข้าตา โดยเฉพาะขณะดวงอาทิตย์ อยู่ใกล้ขอบฟ้าจึงเห็นดวงอาทิตย์มีสีแดง เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้าเล็กน้อย แสงสีแดงจะยังส่องมาทิศทางเดิม คือ เกือบจะเป็นแนวเดียวกับแสงแดดส่องมาที่โลก แสงสีแดงส่วนนี้เองที่สะท้อนมาเข้าตาอีกต่อหนึ่ง โดยฝุ่นละอองและโมเลกุลของอากาศที่อยู่ทางทิศตะวันตก ปรากฏเป็น "แสงผีตากผ้าอ้อม" ซึ่งจะเห็นอยู่ได้นานประมาณครึ่งชั่วโมง

ชื่อเรียกอย่างอื่น คือ แสงโพล้เพล้ แสงพลบค่ำ หรือแสงสนธยา

ใครที่เล่นกล้องอยู่ ลองใช้จังหวะนี้ถ่ายภาพดูนะครับ จะสามารถเล่นสีได้มากเลย ยังไงลองปรับเปลี่ยนค่า WB หลาย ๆ ค่าดูนะครับ แต่ละอย่างจะให้สีออกมาที่แตกต่างกัน

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แสงต่อเนื่อง และแสงไม่ต่อเนื่อง

เรื่องของการถ่ายภาพ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับแสง วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจของแสงต่อเนื่อง และแสงไม่ต่อเนื่องกัน

แสงต่อเนื่อง แสงไม่ต่อเนื่อง


  • แสงต่อเนื่อง เช่น แสงอาทิตย์ แสงจากหลอดไฟ คือแสงที่ส่องมาตลอดเวลา 

แสงต่อเนื่อง เมื่อตกกระทบเซนเซอร์กล้อง ยิ่งเปิดหน้ากล้องนาน (สปีดชัตเตอร์ต่ำ) แสงจะยิ่งเข้ามาก ภาพก็จะยิ่งขาวขึ้น ๆ ส่วนแสงไม่ต่อเนื่อง เช่น แสงแฟลช ไม่ว่าจะเปิดหน้ากล้องนานเท่าใด เมื่อแสงหมดไปแล้ว ภาพก็จะยังคงสว่างเท่าเดิม (อันนี้พูดถึงกรณีที่ไม่มีแสงจากภายนอกมากวนเลยนะครับ หรือสภาวะมืดสนิทนั่นเอง)

แสงจากหลอดไฟ

  • แสงไม่ต่อเนื่อง คือแสงที่สว่างขึ้นมาแล้วก็หมดไป เช่น แสงแฟลช แสงฟ้าแลบ แสงจากพลุ แสงจากไฟเย็น 
ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพก็ถือ สมมติเราเอากล้องวางบนขาตั้ง ในบริเวณที่มืด แล้วเปิดหน้ากล้องทิ้งไว้นาน ๆ เช่น ใช้สปีดชัตเตอร์ 30 วินาที จากนั้น เรายิงแฟลชใส่ตัวแบบของเรา ไม่ว่าเราจะใช้สปีดชัตเตอร์ 5 วินาที หรือ 30 วินาที ภาพก็สว่างเท่ากัน ไม่มีผลอะไร เป็นต้น เนื่องจากแฟลชเป็นแสงที่ยิงออกมาแล้ว ดับไป ไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น จะเปิดให้เซนเซอร์รับแสงนานเท่าไหร ผลที่ได้ก็จะออกมาเหมือนกัน (แต่ต้องให้แสงเข้ามาจนหมดก่อนนะครับ)

แสงจากพลุ ไม่ต่อเนื่อง แต่แสงจากสป็อตไลท์ที่อนุสาวรีย์ ต่อเนื่องนะครับ

ช่วงนี้หน้าฝน เห็นหลายคนพยายามถ่ายภาพฟ้าแลบ ฟ้าผ่า หรือสายฟ้า. . .  เมื่อเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็จะทราบได้ทันทีว่า ถ้าเราถ่ายในชนบท หรือบริเวณที่มืด ๆ มากๆ เปิดสปีดชัตเตอร์ต่ำ ๆ รอไว้เลยตอนฝนตก ยังไงเราก็ต้องได้ภาพฟ้าผ่าแน่นอน แต่ถ้าในเมือง อาจจะยากหน่อยนะครับ เพราะมีแสงต่อเนื่องจากหลอดไฟในเมืองมากมายทั่วทุกหนแห่ง หากเปิดหน้ากล้องนาน ๆ ภาพเราเสียหมดครับ

ที่มาอธิบายหัวข้อนี้ เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับแสง ซึ่งผมจะเขียนบล็อกเกี่ยวกับการถ่ายภาพกลางคืน โดยใช้เทคนิคที่น่าสนใจต่าง ๆ ต่อไปอีกหลายบล็อกนะครับ

* ถ้าชอบเทคนิคการถ่ายภาพ และรูปที่ผมถ่าย สามารทวีต และแชร์ใน G+ หรือเฟซบุ๊คได้เต็มที่นะครับ
* ผมจะพยายามเขียนเทคนิคการถ่ายภาพเท่าที่ศึกษามา และประสบการณ์ส่วนตัวในการถ่ายสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพออกมากันสวย ๆ นะครับ blog.suaythep.com แชร์ด้วยใจ. . .


วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การถ่ายภาพย้อนแสง

เมื่อกี้ขับรถขึ้นทางด่วนไปวิภาวดี จากที่เมื่อก่อนไม่ค่อยได้สังเกตอะไรเท่าไหร่ เมื่อกี้สังเกตป้ายโฆษณาไปตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็นรูปดารา โฆษณารถยนต์ หลายอย่าง ปรากฏว่า มากกว่า 70-80% เป็นการถ่ายภาพโดยให้แสงหลักมาจากข้างหลัง และใช้แหล่งกำเนิดแสงอีกแหล่ง ยิงไปข้างหน้า เพื่อเปิดเงา พอดีตรงกับหัวข้อที่ผมกำลังจะเขียนบทความ ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังครับ

การถ่ายภาพย้อนแสง

ลักษณะการถ่ายภาพแบบมืออาชีพเพื่อลงโฆษณา สงสัยจะเป็นเคล็ดลับที่ไม่เปิดเผยมานาน เพราะแต่ไหนแต่ไร เราเคยได้ยินประจำว่า อย่าถ่ายย้อนแสง เพราะการถ่ายภาพย้อนแสงนั้นจะให้ให้ตัวแบบหน้าดำและได้ภาพที่ไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วการถ่ายภาพบุคคล หรือแม้กระทั่งถ่ายวัตถุอื่นย้อนแสงนั้นมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ โดยเราจะได้ประกายของเส้นผม และได้การตัดขอบโดยใช้แสงแบบธรรมชาติ ไม่ได้สร้างจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้ภาพดูโดดเด่น และน่าสนใจยิ่งขึ้น (คือดูมีมิติ ตัวแบบไม่จม)


สิ่งดี ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการถ่ายภาพย้อนแสง แต่มีเทคนิคเล็กน้อย ซึ่งช่วยปรับปรุงภาพของเราให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น แก้ไขไม่ให้ตัวแบบนั้นหน้าดำซึ่งวิธีแก้นั้นจะมีอยู่ 3 วิธีด้วยกันได้แก่
  1. ชดเชยแสงไปทางบวก (มากน้อย แล้วแต่สถานการณ์) ในลักษณะนี้ ส่วนมากฉากหลังจะสว่างจนโอเวอร์ไปเลย ซึ่งบางสถานการณ์ ก็ให้ภาพที่สวย แปลกตาดีเหมือนกัน แต่บางสถานการณ์ก็ไม่สวย ยังไงคงต้องดูตามสถานการณ์ด้วยนะครับ
  2. ใช้การฟิลแฟลชช่วยเติมแสงที่ด้านหน้า ถ้าจะให้ดี ให้ใช้แฟลชแยก โดยสั่งการจากตัวสั่งการไร้สาย ไม่ว่าจะสั่งด้วยระบบอินฟราเรด หรือคลื่นวิทยุก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นระบบอินฟราเรด บางทีในสภาพที่แสงอาทิตย์จ้า ๆ แรงมาก ๆ บางทีอาจกดติดบ้าง ไม่ติดบ้าง 
  3. ใช้รีเฟล็กเตอร์ หรือแผ่นสะท้อนสีขาว หรือสีเงิน เพื่อทำให้หน้าสว่างขึ้น ( วิธีนี้จะให้แสงที่นุ่มและมีมิติมากกว่าการใช้แฟลชธรรมดา แต่ต้องมีคนช่วยถือให้ หรือมีที่แขวนรีเฟล็กเตอร์)
แสงอยู่ด้านหลังตัวแบบ ทำให้รู้สึกเหมือนมีออร่า

บางสถานการณ์ที่เราไม่ได้เตรียมแฟลชหรือรีเฟล็กเตอร์ไป หากต้องการถ่ายย้อนแสงจริง ๆ ก็สามารถหารีเฟล็กเตอร์ธรรมชาติที่อยู่แถว ๆ นั้นได้ เช่น กำแพงสีขาว ถือเป็นรีเฟล็กเตอร์ชั้นดีที่จะทำให้ภาพออกมาสวยทีเดียว หรือเพื่อน ๆ ที่ไปด้วยกันที่ใส่เสื้อสีขาว ให้ไปยืนใกล้ ๆ ตัวแบบที่เราจะถ่าย แล้วใช้แสงสะท้อนจากบนเสื้อสีขาว เพื่อสะท้อนแสงให้เปิดเงาบริเวณหน้าของตัวแบบ เป็นต้น หรือร่มหลังรถ (ซึ่งคิดว่าต้องมีติดอยู่ในรถทุกคันอยู่แล้ว) ถ้าบังเอิญร่มที่เราพกไว้เป็นสีขาว หรือสีเงิน ก็สามารถนำมาใช้เป็นรีเฟล็กเตอร์แก้ขัดได้ดีพอสมควรทีเดียว หรือแม้แต่หาไม่ได้ บางทีแค่ใช้กระดาษ A4 สีขาว หรือหนังสือเล็ก ๆ แค่เล่มเดียวเป็นรีเฟล็กเตอร์ ยังช่วยให้ภาพสวยขึ้นได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์


อย่างภาพนี้ แสงมาจากด้านหลัง เฉียงนิดหน่อย เราก็ใช้รีเฟล็กเตอร์ในทิศที่ตรงข้ามกับแสง สะท้อนแสงเข้าหน้า เพื่อเปิดเงา ในกรณีนี้ ผมแสดงให้เห็นเลยว่าใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสีขาว ที่เด็ก ๆ ใช้ทำงานส่งโรงเรียนเป็นรีเฟล็กเตอร์ แผ่นก็เล็ก ๆ เอง ไม่ได้ใหญ่อะไรมากมาย

สำหรับเนื้อหาในบทความต่าง ๆ ในบล็อกของผม จะเน้นการใช้อุปกรณ์ หรือสิ่งที่หาได้ง่าย ๆ นะครับ ซึ่งสำหรับมืออาชีพ เค้าจะมีการจัดแสง ยกระบบไฟขนาดใหญ่ มีแบตเตอรี่จ่ายเข้าไฟสตู หรือมีเครนขนาดใหญ่ที่สามารถจัดแสงได้ตามที่เค้าออกแบบไว้เป๊ะ ๆ แต่อย่างผม ถ่ายเพื่อความบันเทิง เดินไปถ่ายไป เจออะไรสวยก็ถ่าย ไม่เจอก็ไม่ได้ถ่าย หรือเป็นมือสมัครเล่น คงไม่ลงทุนถึงขนาดนั้นครับ . . .

ในบล็อกถัดไป ผมจะอธิบายการทำริมไลท์ที่เส้นผม ที่เห็นเป็นประกาย ๆ สีทองนั่นแหละครับ . . . ไว้พบกันครับ

ซื้อเลนส์ให้คุ้มค่า

การเลือกซื้อเลนส์ให้เหมาะกับความต้องการ และคุ้มค่าที่สุด

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า "เลนส์ที่คุ้มค่า" ไม่ใช่ เลนส์ที่ถูกที่สุดนะครับ เลนส์ที่คุ้มค่า หมายถึง เลนส์ที่เราซื้อมาแล้วได้ใช้บ่อย ๆ และให้ภาพที่ตอบสนองกับความต้องการเฉพาะอย่างของเราได้ (ดูแล้วเราพอใจ) ถึงแม้จะราคาสูงหน่อย แต่ว่าถ้าได้ใช้เรื่อย ๆ ก็ถือว่าคุ้มนะครับ . . . ยกตัวอย่าง บางคนอาจซื้อกล้องระดับฟุลเฟรมมา แล้วก็มีเลนส์ 35 มม. ตัวเทพตัวเดียว ติดกล้อง แล้วทุก ๆ วันก็เอากล้องกับเลนส์ตัวนี้ ถ่ายทุกอย่าง อย่างนี้เรียกว่าคุ้มค่าสุด ๆ ครับ . . .

หลายปีที่ผ่านมา ผมมักเจอเพื่อน ๆ ที่เล่นกล้องถามบ่อย ๆ ว่า "ซื้อเลนส์อะไรดี" และทุกครั้ง ก็ต้องถามกลับไปว่า "จะเอาไปถ่ายอะไรล่ะ" นั่นแหละครับ มันตอบยากจริง ๆ ดังนั้น ผมจึงเอาสิ่งนี้มาเขียนเป็นบล็อกไว้เลยครับ ทีหลังถ้ามีคนถามอีก ผมจะได้ฟอร์เวิร์ดลิงค์ ส่งให้ทันทีอย่างรวดเร็ว (ไม่ต้องอธิบายเรื่องเดิมซ้ำหลาย ๆ ครั้ง)

สำหรับข้อมูลด้านล่าง ผมแนะนำเฉพาะเลนส์แคนนอนนะครับ ทั้ง EF และ EF-S ส่วนเลนส์ Nikon เนื่องจากเคยใช้อยู่ไม่กี่เลนส์ จึงอาจแนะนำไม่ได้ตรงจุดเท่าใดนัก แต่หลักทั่ว ๆ ไปก็คล้าย ๆ กันครับ

* ถ้าชอบถ่ายวิว
แนะนำเลนส์ไวด์นะครับ 10-22, 17-40, 16-35, 14 mm.

* ถ้าชอบถ่ายแฟน (หรือไม่ใช่แฟน) เอาเป็นว่าข้อนี้รวมถึงสาว ๆ ทั้งหมดแล้วกัน
เลนส์ฟิกซ์ระยะ 85 หรือ 135 เลนส์ 2 ระยะนี้ถ่ายคนออกมาสวยที่สุด

* ถ้าชอบแอบถ่ายจากระยะไกล แบบไม่ให้ซุ่มให้เสียง
เลนส์เทเล่ 55-250, 70-200 มี 4 ตัวให้เลือกครับ ไม่ว่าจะเป็น f/4 หรือ f/2.8 ทั้งแบบ IS (กันสั่น) และไม่มีกันสั่น (ความจริงระบบกันสั่น มันไม่ได้ป้องกันการสั่นนะครับ มันเป็นระบบชดเชยการสั่น แต่คนไทยเรียกติดปากครับ)

* ถ้าชอบถ่ายจากระยะเผาขน แล้วพูดคุยสนทนาไปในตัว ทำความคุ้นเคยกันไปด้วย แบบว่าถ่ายไปคุยไป
แนะนำเลนส์ไวด์นะครับ 10-22, 17-40, 16-35 หรือจะเลนส์นอร์มัลก็ได้ เช่น 17-55, 24-70, 24-105 เป็นต้น

* ถ้าชอบถ่ายทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่จิ้มฟันยันเรือรบ
เลนส์อเนกประสงค์ เช่น 18-200, 28-300 หรือถ้าตัวนี้หนักไป ก็อาจใช้ 24-105

* ถ้าชอบถ่าย Street แบบเน้นคุณภาพดีๆ แนะนำให้ใช้เลนส์ฟิกซ์ 35 f/1.4L นะครับ

* ถ้าชอบถ่ายมาโคร แบบเน้นๆ เลย ก็ใช้เลนส์ macro 100 f/2.8 มีตัวไฮบริด (ระบบชดเชยการสั่น 2 ทิศทางตัวแรกของโลก) แล้วก็ตัวธรรมดาที่ราคาถูกลงมา เลือกเอาครับ

EF 100 f/2.8L IS macro 

ผมระบายสีไว้นะครับ สีแดงหมายถึงสำหรับกล้องที่มีเซนเซอร์ขนาด APS-C ส่วนถ้าไม่มีสีระบาย หมายถึงเลนส์สำหรับกล้อง Full Frame นะครับ

ที่กล่าวด้านบน เป็นการเลือกซื้อคร่าว ๆ เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจสำหรับผู้เริ่มต้นเท่านั้นนะครับ สำหรับผู้ที่ถ่ายภาพมานานแล้ว จะรู้ดีว่า ตัวเองชอบอะไร และเลือกซื้อได้ตอบสนองความต้องการที่สุดนะครับ ยังไงไปลองเลนส์ที่ร้านกล้องดูได้ครับ แล้วเราชอบตัวไหน ค่อยซื้อมาใช้ครับ . . .

สำหรับตัวผมเอง สมัยเริ่มเล่น DSLR ใหม่ ๆ ใช้วิธีซื้อหนังสือมาอ่าน (ทุกเล่มเลย) ซึ่งในสมัยโน้น หนังสือถ่ายภาพภาษาไทยมีไม่กี่เล่มครับ จากนั้นก็ลองซื้อมาใช้หลาย ๆ ตัว แล้วก็มีเพื่อน ๆ แนะนำ แล้วในที่สุด ก็ได้เลนส์ที่เหมาะกับตัวเองครับ . . . (เปลี่ยนไป ๆ มา ๆ บ่อยมาก)

* ถ้าชอบเทคนิคการถ่ายภาพ และรูปที่ผมถ่าย ช่วยทวีต และแชร์ใน G+ หรือเฟซบุ๊คด้วยนะครับ
* ผมจะพยายามเขียนเทคนิคการถ่ายภาพเท่าที่ศึกษามา และประสบการณ์ส่วนตัวในการถ่ายสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพออกมากันสวย ๆ นะครับ blog.suaythep.com แชร์ด้วยใจ. . .

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การถ่ายภาพน้ำตก (ด้วยมือเปล่า)

การถ่ายภาพน้ำตก ด้วยมือเปล่า

วันนี้จะมาเล่าวิธีการถ่ายภาพน้ำตกที่สั้นที่สุด และง่ายที่สุดนะครับ เอาง่าย ๆ เลยครับ เปิดโหมด S และตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้ช้า ๆ แต่ยังคงถือไหว เพราะถ่ายด้วยมือเปล่า เช่นประมาณ 1/10, 1/8 หรือ 1/5 แล้วก็กลั้นหายใจถ่ายเลยครับ หาที่พิงกล้องหน่อยนึง กลั้นหายใจ แล้วก็กดชัตเตอร์เบาที่สุดเลยครับ

S 1/5

ภาพนี้เป็นการถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/5 วินาทีด้วยมือเปล่า จะเห็นว่า สายน้ำไหลเป็นเส้นนุ่ม ๆ อ่อนช้อย สวยงาม

 S 1/500

ส่วนภาพนี้ ผมปรับความเร็วชัตเตอร์ 1/500 มาให้เปรียบเทียบสายน้ำกัน เพื่อให้เห็นชัด ๆ ว่าถ้าปรับความเร็วชัตเตอร์ที่เร็ว ภาพจะออกมาแตกต่างกันอย่างไร

ส่วนวิธีการปรับแบบละเอียด เดี๋ยวผมเขียนบล็อกมาอธิบายอีกรอบแล้วกันนะครับ ถ้าจะให้สวยจริง ๆ ต้องมีอุปกรณ์เพิ่มนิดหน่อย และเลือกเวลา-สถานที่อย่างถูกต้องด้วย เช่น เตรียมขาตั้งกล้อง ฟิลเตอร์ลดแสง และเลนส์ที่เหมาะสม . . . สำหรับแบบนั้นคือตั้งใจไปถ่ายน้ำตกโดยเฉพาะ แต่อย่างนี้คือแค่เดินผ่าน แล้วอยากถ่ายเล่น ๆ ครับ


โหมด M ใช้เมื่อไหร่

การถ่ายภาพโหมดแมนนวล (โหมด M)

สำหรับการใช้โหมด M หรือโหมดแมนนวล อย่างมีประสิทธิภาพ ผมจะใช้คู่กับโหมดวัดแสงเฉพาะจุด (ไม่ใช้โหมดวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ) เนื่องจากเราต้องหมุนลูกกลิ้งต่าง ๆ เพื่อให้เข็มวัดแสงอยู่ตรงกลาง (คือแสงพอดี) ณ จุดที่เราต้องการวัดแสง


เมื่อใดที่จะใช้โหมดออโต้ เมื่อใดที่จะใช้โหมดแมนนวล เป็นคำถามที่นักเล่นกล้องใหม่ ๆ มักสงสัย

ถ้าจะตอบว่า โหมด M มีไว้ให้โปรถ่าย แต่ถ้ามือใหม่ก็ใช้โหมด Auto ไปเถอะ ผมคิดว่า อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องซักทีเดียวนัก . . . จึงเขียนบทความนี้มา เล่นประสบการณ์ให้ฟังครับ ว่าจริง ๆ แล้ว ในสถานการณ์ต่าง ๆ เราจะใช้โหมดอะไรกันดี

สำหรับสูตรของผมคือ ใช้โหมด M เมื่อใดก็ตามที่ทำให้การถ่ายง่ายที่สุด (และภาพสวยด้วยนะ) ถ้าสถานการณ์ใดที่ใช้โหมด Auto (ไม่ว่าจะเป็น A, S หรือโหมด P) แล้วถ่ายภาพง่าย และได้ดั่งที่ใจต้องการ ก็ให้ใช้ไปครับ ส่วนสถานการณ์ไหนที่การใช้โหมด M แล้วถ่ายง่าย ผมก็จะเลือกใช้โหมด M ครับ ถ้าใช้โหมด M แล้วไม่ได้ทำให้ถ่ายภาพง่ายขึ้น เราจะไปใช้ทำไมครับ (นั่นสิเนอะ!)

เดี๋ยวผมจะยกตัวอย่างหลาย ๆ สถานการณ์ในบทความนี้นะครับ

หลักการเลือกโหมดการถ่าย ที่ทำให้ชีวิตการถ่ายภาพของเราง่ายขึ้น (ผมเน้นคำว่า "ง่าย" นะครับ) แต่ง่ายแล้วต้องได้ภาพสวยด้วยครับ
  • ถ่ายทั่วไป ใช้โหมด A
คือไม่ว่าจะถ่ายคน ถ่ายวิว ถ่ายมาโคร ถ่ายทั่วไป ถ่ายวัด ถ่ายบ้าน ถ่ายสัตว์ ทุกอย่างผมโหมด Av (หรือ A ในกล้องนิคอน) ลูกเดียวเลยครับ แล้วปรับค่า f เอา ถ้าต้องการชัดตื้น หรือละลายฉากหลัง ก็ f กว้าง (ตัวเลขน้อย ๆ) ชัดลึก ก็ f แคบ (ตัวเลขมาก ๆ แต่อยากมากเกิน เดี๋ยวไม่สวย f/8 หรือ f/11 ก็พอแล้ว) เท่านั้นจบ . . . .

สรุปคือว่า โหมด Av ใช้เยอะที่สุดแล้ว นึกอะไรไม่ออก ปรับโหมด Av ไว้ก่อนครับ สาเหตุที่ไม่ใช้โหมดปุ่มสีเขียว (Full Auto) เนื่องจากมันปรับและควบคุมอะไรไม่ค่อยได้ครับ ชดเชยแสง ปรับ ISO หรืออะไรต่าง ๆ ทำไม่ได้เลยครับ แต่โหมด Av นี่ค่อนข้างคล่องตัวครับ 
  • ถ่ายอะไรที่เกี่ยวกับความเร็ว ความช้า ใช้โหมด S
อะไรที่มีความเร็วมาเกี่ยว เช่น ต้องการหยุดความเคลื่อนไหวของนกที่กำลังบินกลางอากาศ ก็ปรับใช้โหมด S ถ่ายภาพคนกระโดด ก็ใช้โหมด S ถ่ายพัดลมกำลังหมุน (จะถ่ายทำไมเนี่ย) ก็ใช้โหมด S แล้วปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สูง ๆ หรือเร็ว ๆ เข้าไว้ เช่น 1/1000 เพื่อหยุดความเคลื่อนไหว ภาพแนวนี้เป็นแนว Stop Action

ตัวอย่างการใช้โหมด S ถ่ายภาพน้ำตก ให้ดูเหมือนกำลังไหล

ถ้าต้องการถ่ายภาพให้ดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหว หรือที่เรียกว่า Motion Blur ก็ให้ปรับความเร็วต่ำ ๆ เช่น ภาพน้ำตกข้างบน ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/5  
  • ถ่ายที่มืด ๆ ที่แสงคงที่ ไม่เปลี่ยนบ่อย ใช้โหมด M
การถ่ายภาพในคอนเสิร์ต การแสดงของลูก ๆ ใน Hall ที่มืด ๆ หรือการถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ ที่มีการจัดแสงไว้ประมาณนึง พอ ๆ กัน เช่น พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง เป็นต้น อันนี้ โหมด M อาจจะง่ายกว่า ลองใช้ดูนะครับ เช่น พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง มีการจัดแสงส่องลงมายังตัวหุ่นพอ ๆ กันทุกห้อง การที่เราตั้งค่าโหมด M ไว้ภาพเดียว (ล็อค ISO ไว้ด้วยนะครับ) คราวนี้เราก็สนใจแต่การจัดองค์ประกอบอย่างเดียวเลย ไม่ต้องมาพะวงกับการตั้งค่าแสง

แต่สถานการณ์เหล่านี้จะลำบากมาก ถ้าใช้โหมด A เพราะบางที ถ่ายออกมาจะสว่างไป บางทีก็มืดไป เละเทะไปหมด คนถ่ายไม่ต้องทำอะไร มัวแต่คิดสูตรว่าจะชดเชยแสงกันจนหน้ามืด . . .  เรียกว่ากว่าจะได้ภาพนึง ถ่ายกันหลายรอบครับ ต่างกับการที่ใช้โหมด M ปรับให้ดี ๆ เลยทีเดียว แล้วภาพก็จะออกมาประมาณนั้นทุกรูป สบายกว่ากันเยอะครับ  
  • ถ่ายอะไรที่ต้องการล็อคค่าแสง เช่น ถ่ายในสตูดิโอ ที่จัดแสงพอดีแล้ว ใช้โหมด M
เช่น การถ่ายแบบ ถ่ายแฟชั่น ถ่ายในสตูดิโอ ปรับค่าไว้ดี ๆ จนพอใจค่านึงเลย จากนั้นใช้ค่านั้นถ่ายตลอด กดชัตเตอร์ลูกเดียว ไปมีสมาธิอยู่กับตัวแบบ เพื่อให้โพสท่าออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีชีวิตชีวา ไม่ต้องไปสนใจกล้องอีกเลย กดลูกเดียว (อาจใช้รีโมทกด จะได้คุยกับตัวแบบอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อลดอาการเกร็ง)

อ้อ บางทีการถ่ายในสตู เค้านิยมใช้ f แคบกันด้วยนะครับ เพื่อเน้นให้ชัดหมด (เพราะไม่มีฉากหลังอะไรจะให้ละลาย) ดังนั้น ส่วนใหญ่จะใช้ f/8 ครับ แล้วล็อคโฟกัสไว้เลย จากนั้นปรับเป็นแมนนวลโฟกัส จะได้กดชัตเตอร์ลูกเดียว ไม่ต้องไปยุ่งกับกล้องอีกเลย ไม่ต้องหาจุดโฟกัสอะไรให้วุ่นวายอีกแล้ว

* ถ้าชอบเทคนิคการถ่ายภาพ และรูปที่ผมถ่าย สามารถทวีต และแชร์ใน G+ หรือเฟซบุ๊คได้เต็มที่นะครับ
* ผมจะพยายามเขียนเทคนิคการถ่ายภาพเท่าที่ศึกษามา และประสบการณ์ส่วนตัวในการถ่ายสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพออกมากันสวย ๆ นะครับ blog.suaythep.com แชร์ด้วยใจ. . .

วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ถ่ายภาพกระโดด

JUMPING TIME

หลายคน เวลาดูภาพเพื่อน ๆ ไปเที่ยวทะเล หรือสถานที่สวย ๆ ต่าง ๆ มักจะเห็นภาพเพื่อน ๆ เรากระโดดค้างอยู่ในอากาศ ทำท่าทางต่าง ๆ ที่ดูสนุกสนาน (กว่าความเป็นจริง) เพื่อยั่วให้เราอยากไปเที่ยวที่นั่นบ้าง

วิ่งไป โดดลอยจากพื้นไป

จริง ๆ แล้วการถ่ายภาพกระโดด ก็เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานมากเวลาเราไปเที่ยว และภ่ายภาพไปพร้อม ๆ กัน แต่มีข้อควรระวัง และเทคนิค พร้อมเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังที่ผมจะมาเล่าประสบการณ์ให้อ่านกันในวันนี้นะครับ . . .

ภาพกระโดด

การจับภาพคนอื่นกระโดด

ในวันนี้ ผมจะมาอธิบายวิธีการถ่ายภาพกระโดด หรือภาพอะไรก็ตามที่ลอยค้างในอากาศ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพวันหยุดพักผ่อน หรือสถานที่ท่องเที่ยวมาแชร์กัน เพื่อความสนุกสนานมากยิ่งขึ้นครับ


การกระโดดเอง

หลักการพื้นฐาน
ต้องใช้เทคนิค Stop Action ซึ่งผมเคยอธิบายไปแล้วในบล็อกแรก ๆ เลย โดยมีปัจจัยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ดังนี้
- แสงต้องมาก (แสงน้อยถ่ายยากครับ ถ้าต้องถ่ายจริง ต้องใช้แฟลช)
- ควรถ่ายตามแสง (ย้อนแสงก็ได้ เดี๋ยวค่อยอธิบายเพิ่มครับ เดี๋ยวยาวเกิน) เพื่อให้สีสันฉากหลังสดใส และตัวแบบหน้าไม่ดำ

กระโดดคู่

วิธีการปรับกล้อง (แบบง่าย ๆ) ในนี้เราเน้นมือใหม่ครับ ผมจะพยายามอธิบายให้ปรับง่ายที่สุด สำหรับมือระดับพระกาฬ เขามีวิธีเฉพาะของเขาเองครับ แต่ละคนไม่เหมือนกัน เพื่อน ๆ ผมในก๊วนถ่ายภาพ ปรับไม่เหมือนกันซักคน คนละสูตร แล้วแต่ภาพปลายทางว่า เค้าต้องการออกแบบมาให้เห็นอย่างไร

กระโดดลงน้ำ แต่ดูเหมือนเดินลงไป

ขั้นตอน
- ใช้เลนส์ออกไปทางเลนส์ไวด์นิดหน่อย ถ้าเป็นเลนส์เทเล ให้ถอยไกล ๆ เลย เดี๋ยวกระโดดแล้ว จะหลุดเฟรม หัวขาดกันหมด . . .
- โหมดวัดแสง ใช้แบบเฉลี่ยทั้งภาพนะครับ ปกติก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว ไม่ต้องไปยุ่งมัน
- ปรับกล้องเป็นโหมด TV สำหรับ Canon (โหมด S สำหรับ Nikon) และใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ ไปเลย เช่น 1/1000, 1/500 หรือ 1/200 ถ้าแสงมาก ๆ ก็ใช้สูง ๆ ไปเลย ภาพนิ่งแน่นอน แต่ถ้าแสงน้อย ปรับเหลือ 1/200 ก็พอได้ แต่ให้กระโดดหลาย ๆ รอบเพื่อถ่ายหลาย ๆ ครั้งหน่อย เพราะบางทีถ่ายออกมานึกว่าชัดแล้ว ปรากฏกลับมาโหลดเข้าคอมแล้วซูมดู ปรากฏไม่ชัดเป๊ะ มีเบลอนิดหน่อย

ลงไปใกล้ ๆ พื้น เพื่อสร้างภาพลวงตาว่า โดดสูงกว่าปกติ

- การจัดองค์ประกอบ ให้เว้นที่เผื่อกระโดดข้างบนไว้ด้วย
- ให้ตัวแบบไปยืนที่จะกระโดด แล้วเราโฟกัสที่แบบ พอได้โฟกัสแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นแมนนวลโฟกัสครับ เพื่อล็อคโฟกัสไว้เลย ไม่ต้องโฟกัสแล้ว จากนี้ไปตรงนี้จะชัดทุกภาพ แต่ถ้าเปลี่ยนตำแหน่ง ต้องโฟกัสใหม่นะครับ

ท่าประจำ

เพียงเท่านี้เองครับ เสร็จแล้วสำหรับการตั้งค่ากล้อง
คราวนี้มาพูดถึงการกดชัตเตอร์บ้าง มี 2 แบบ
- ถ่ายภาพเดียวเด็ด ๆ ไปเลย จับจังหวะ
- ถ่ายต่อเนื่องเป็นชุด โดยการปรับเป็นโหมดถ่ายต่อเนื่อง แล้วกดชัตเตอร์ค้างไว้ เพื่อถ่ายเป็นชุดหลาย ๆ ภาพต่อเนื่องไปเลย

โดดเบา ๆ ธรรมดา ๆ

สำหรับตัวผม ชอบจับจังหวะสวย ๆ ทีเดียวหรือ 2 ทีมากกว่า . . . อันนี้แล้วแต่ชอบนะครับ


ข้อควรระวังในการถ่ายภาพกระโดด
อันนี้จากประสบการณ์ตรงที่เกิดกับตัวเองเลยนะครับ
- หัวเข่า ถ้าไม่ฟิตจริง โดดแค่ 2-3 ทีก็พอครับ โดย 10 กว่ารอบ เขาจะกระแทก ทำให้เจ็บเข่าได้
- หลัง ต้องรู้จักท่ากระโดดด้วย แรก ๆ อาจโดดเบา ๆ ก่อน เพื่อฝึก ถ้าทำท่าผิด อาจปวดหลังไปเป็นอาทิตย์เลยนะครับ


- กางเกง ภาพด้านล่างนี้ผมโดดเต็มที่เลยที่ Seoul Tower เกาหลีใต้ โดดไปปั๊ป . . . เสียงดัง "แคว่ก"  ดังมาก ๆ กางเกงขาดตรงเป้า  5 5 5 โชคดี วันนั้นเดินทางกลับเมืองไทยพอดี กระเป๋าเดินทางอยู่ใต้รถทัวร์ เลยไปเอากางเกงใหม่มาเปลี่ยนได้ ไม่ต้องใส่กางเกงขาด ๆ ไปทั้งวัน

ท่านี้แหละ ที่ทำให้กางเกงขาดทันที

เทคนิคท้ายสุด ถ้าต้องการหลอกตาให้ดูว่ากระโดดสูงกว่าปกติ เราอาจย่อตัวลงไปถ่ายต่ำ ๆ เป็นมุมเงย ภาพก็จะหลอกตาว่าโดดสูงกว่าธรรมชาตินะครับ

โดดจากเก้าอี้

* ถ้าชอบเทคนิคการถ่ายภาพ และรูปที่ผมถ่าย ช่วยทวีต และแชร์ใน G+ หรือเฟซบุ๊คด้วยนะครับ
* ผมจะพยายามเขียนเทคนิคการถ่ายภาพเท่าที่ศึกษามา และประสบการณ์ส่วนตัวในการถ่ายสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพออกมากันสวย ๆ นะครับ blog.uaythep.com แชร์ด้วยใจ. . .

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ทดสอบ 35 f/1.4G ประกบ D800

สวัสดีครับ วันนี้จะแสดงภาพที่ได้จากเลนส์ 35 f/1.4G ใส่กับกล้อง D800 เดินสบาย ๆ น้ำหนักกลาง ๆ ไม่หนักมากนะครับ เคยแบกทั้งวันไปเมืองจีนแล้ว สบายครับ คอไม่เคล็ดแต่อย่างใด . . . ส่วนระยะ 35 มม. ก็ถือว่าเป็นระยะที่เกือบจะเท่ากับเห็นด้วยตาคนปกติ คือถ่ายได้แทบทุกสถานการณ์ครับ เหมือนอย่างที่สมัยก่อน คนชอบพูดว่า ใช้ฟิล์ม 35 ถ่ายด้วยเลนส์ 35 มม. บ่อย ๆ . . . จริงๆ ก็มาจากเลนส์ความยาวโฟกัส 35 มม. นี่แหละครับ

ขนมโมจิ อร่อยๆ ข้างในเป็นไอศกรีม

เลนส์ Nikon AF-S NIKKOR 35mm f/1.4G

ตัวนี้เป็นเลนส์กึ่งไปทางไวด์นิดหน่อย เหมาะสำหรับเดินถ่ายทั่วไป ถ่ายวิวได้นิดหน่อย ถ่ายคนก็ได้ ถ่ายหมู่ก็กำลังดี สำหรับผม เวลานึกไม่ออกว่าจะถ่ายอะไร ก็เอาเลนส์ตัวนี้แหละ ใส่กับกล้อง D800 แล้วถือติดตัวไว้ . . . อ้อ วิธีการของผม เวลาออกนอกบ้าน เปิดฝาเลนส์ไว้ตลอด ไม่เคยปิดนะครับ พร้อมถ่ายได้ตลอดเวลา แล้วกล้องผมก็เปิด ON ตลอด ไม่เคยปิดครับ ยกเว้นเวลาเปลี่ยนแบต และเปลี่ยนเลนส์เท่านั้น 


หลังจากเลือกที่กินข้าวเที่ยงได้แล้ว จัดการสั่งแหนมเนืองมากิน เห็นสวยดี เลยถ่ายมาซักหน่อย


ภาพแรกยังไม่เท่าไหร่ ภาพสองลองย้อนแสงดูนิด ๆ แล้วเอาหน้าแนบต่ำลงไปเกือบติดโต๊ะ ภาพก็น่าสนใจขึ้นนิดนึง


อีกจานนึงมาถึง ก็จัดการถ่ายอีกตามระเบียบ (ถ่ายทุกอย่างที่ขวางหน้า)


หลังจากกินอิ่มได้ที่แล้ว ก็จัดการเดินไปหาของหวานรับประทานเล็กน้อย พอดีเจอไอศกรีมร้านนี้ สวยดี เลยแวะซะเลย

เปลือกเป็นขนมโมจิ แต่ไส้ในเป็นไอศกรีม แปลกดี เปลือกเหนียว ๆ ดี อร่อยใช้ได้ วันหลังต้องมากินอีก


มีหลายรสชาติในตู้ เลยจัดการถ่ายมาซัก 2-3 ช็อต


ในตู้มีการตกแต่งด้วยดอกไม้ด้วย ถ่ายออกมาแล้วสีสันสดใสดี เดี๋ยววันหลังจำเทคนิคนี้ไว้ใช้เวลาถ่ายอาหารบ้าง ทำให้ดูน่ากินขึ้นเยอะ


อุปกรณ์ที่ใช้ Nikon D800 + Nikkor AF-S 35mm f/1.4G

รีวิว Nikkor 28-300 กับทุ่งทานตะวัน

ชื่อเต็ม ๆ ของเลนส์ตัวนี้คือ AF-S NIKKOR 28-300mm  1:3.5-5.6G เป็นเลนส์อเนกประสงค์ ระยะไวด์ 28 มม. ถึงระยะเทเล 300 มม. โดยค่า f ไหลตั้งแต่ 3.5-5.6

ถ้าเห็นคำว่า Nikkor อย่าแปลกใจนะครับ มันก็คือเลนส์ของ Nikon นั่นแหละ ยี่ห้อเดียวกันครับ

เลนส์ Nikon AF-S 28-300 f3.5-5.6G 

เลนส์ตัวนี้เป็นเลนส์อเนกประสงค์ ที่ถ่ายได้ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ หรือที่บางคนเรียกว่า เลนส์ตัวเดียว เที่ยวทั่วโลก คือเวลาไปเที่ยว แบกไปตัวเดียว ถ่ายมันได้ทุกระยะ ตั้งแต่ 28-300 มม. เลยทีเดียวไม่ต้องแบกเลนส์หนัก ๆ ไปหลาย ๆ ตัว จะได้เที่ยวสบาย ๆ สนุก ๆ 

ขนาดของเลนส์เมื่อเทียบกับเลนส์ฟิกซ์ 35 f/1.4G และ 85 f/1.4G 

ตัวเลนส์มีน้ำหนักพอสมควร ถือว่าไม่เบาทีเดียว หิ้วนาน ๆ ก็เหนื่อยได้เหมือนกัน คุณภาพที่ถ่ายออกมา ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ถึงดีมาก แต่อย่าไปเทียบกับพวกเลนส์ฟิกซ์แต่ละระยะนะครับ เนื่องจากจุดประสงค์ในการใช้งานเป็นคนละแบบกัน . . .  ประโยชน์ของเลนส์ตัวนี้คือ เวลาเจออะไรสวย ๆ ปั๊ป ซูมเข้าออก แล้วถ่ายได้เลย เหมาะกับการไปเที่ยว แบบไม่ได้ตั้งใจไปถ่ายสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ (คือถ่ายทุกอย่างที่ขวางหน้า เห็นอะไรน่าสน ก็ถ่ายมาให้หมด)


สำหรับทริปนี้ ผมใส่เลนส์ไว้กับกล้อง Nikon D800 นะครับ เป็นกล้องที่มีเซนเซอร์ขนาดฟุลเฟรม พอใส่เลนส์เข้าไปแล้ว ก็หนักปานกลาง

อย่างภาพนี้ ขณะเดินถ่ายดอกทานตะวันอยู่ บังเอิญพี่ที่ไปด้วยเหลือบไปเห็นกิ้งก่าอยู่ไกลมาก ผมเลยรีบหมุนซูมไปที่ระยะ 300 แล้วยิงชัตเตอร์มาซักหลายช็อตทีเดียว ภาพที่ออกมาก็สวยดี เรียกว่าไปทุ่งทานตะวัน แต่ได้กิ้งก่ากลับมาด้วย


ภาพนี้ พยายามให้ดอกทานตะวันมีส่วนร่วมในภาพด้วย หลังจากที่รอจังหวะ และเล็งไป ๆ มา ๆ ซักพัก กิ้งก่าก็เดินไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดมาหยุดตรงที่สามารถถ่ายให้เห็นดอกทานตะวันเป็นฉากหลังได้พอดี เลยจัดมาซักชุด


มาทุ่งทานตะวัน ก็ต้องมีถ่ายกับดอกทานตะวันนิดหน่อย อันนี้ใช้วิธีถ่ายย้อนแสง เพื่อให้เกิดริมไลท์ที่ขอบของตัวแบบ ภาพจะได้ดูน่าสนใจขึ้นเล็กน้อย (เหมือนมีการตัดเส้นด้วยสีขาว) เวลาถ่ายย้อนแสงแบบไม่ใช้แฟลช ให้ปรับการชดเชยแสงไปทาง + ซักหน่อย ไม่เช่นนั้น อาจเกิดปรากฎการณ์หน้ามืดขึ้นได้


มองลงไปในบึง เจอดอกบัวใหญ่สวยงาม เลยหมุนซูมไปที่ระยะเทเล 300 มม. เลย ภาพที่ได้ก็คมชัดดี


ถ่ายดอกทานตะวันให้ชมกันมั่ง แต่สถานที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย หญ้าสูงมาก ไม่กล้าลุยเข้าไป กลัวงูกัด ตอนนี้โชคไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทานตะวันทั้งทุ่งหันไปอีกด้านนึงหมด ถ้าจะให้ดี ต้องลุยหญ้าเข้าไป อันนี้ผมเลยไม่ค่อยได้ถ่ายดอกมาเท่าไหร่

ถ่ายภาพระยะไวด์ที่ 28 มม. เวลาถ่ายลงไปนั่งยอง ๆ นิดหน่อย จะได้เก็บท้องฟ้ามาฝากได้


รอจนพระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า ใครอยากได้ฟ้าสีสวย ๆ ช่วงนี้เหมาะกับการถ่ายที่สุด แต่เนื่องจากฉากหน้าไม่มีแสงเลย จึงเปิดแฟลชหัวกล้องยิงใส่เข้าไปซะหน่อย


นี่ก็เช่นเดียวกัน ภาพนี้ปรับ WB ลอเปลี่ยนไป ๆ มา ๆ หลาย ๆ แบบดูจนได้สีที่ชอบ แล้วก็ยิงแฟลชใส่เข้าไปด้วย ไม่งั้นหน้ามืดตื๋อ ปล. ภาพนี้ผมวางกล้องบนขาตั้งกล้องนะครับ วัดแสงให้พอดีที่ฉากหลัง แบบอันเดอร์นิด ๆ ถ้าถ่ายเฉยๆ หน้าจะดำ จึงต้องตบแฟลช เพื่อให้ฉากหน้าสว่างขึ้นครับ

เดินไปเดินมาชั่วโมงกว่า แม้จะเย็นจนเกือบมืดแล้ว แต่ก็ร้อนได้ที่ ไปกินข้าวก่อนครับ . . . ไว้พบกันใหม่

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ภาพซิลลูเอ็ต

หลังจากที่เราได้รู้จักแนวภาพ ซิลลูเอ็ต (Silhouette) ไปแล้วในบล็อกก่อนหน้านี้ของผม วันนี้เราจะมาถ่ายภาพแบบนี้กันครับ เนื้อหาในหน้านี้จะอธิบายการปรับค่ากล้อง การตั้งค่าต่าง ๆ อย่างละเอียดเลยนะครับ . . .

ยักษ์จินนี่

อ่อ ผมจะเน้นการปรับแบบง่าย ๆ นะครับ บางทีอาจไม่ตรงกับสูตรของเทพท่านอื่นนะครับ แต่จริง ๆ แล้ว หลักการพื้นฐานเหมือนกันครับ แล้วแต่ว่าใครจะมีวิธีการปรับที่แตกต่างกันอย่างไร


วิธีการตั้งค่ากล้อง เพื่อถ่ายภาพซิลลูเอ็ต (Silhouette) เบื้องต้น

ในการถ่ายซิลลูเอ็ต ผมใช้โหมด M นะครับ เพราะรู้สึกถ่ายง่ายกว่าโหมดอื่น ส่วนใครจะใช้โหมด Av หรือ Tv แล้วชดเชยแสงไปทางลบเยอะ ๆ ก็ได้นะครับ
  1. ปรับ ISO 100 เลยครับ เพราะไม่ต้องการให้เซนเซอร์มีความไวแสง
  2. รูรับแสง หรือ f ตามสะดวกเลยครับ ผมใช้ประมาณ 8 เพื่อให้ได้ระยะชัดลึก
  3. ความเร็วชัตเตอร์ อันนี้แล้วแต่สภาพแสงครับ ว่ามืดแค่ไหน แต่ส่วนมาก จะความเร็วสูงครับ ตั้งแต่ 1/800, 1/1000 ผมเคยถ่ายแบบ 1/2500 ด้วย ให้ลองถ่ายภาพนึง แล้วดูว่าสีฉากหลังสวยหรือยัง เพราะความเร็วชัตเตอร์ระดับนี้ กับการย้อนแสงพระอาทิตย์ตก ฉากหน้าดำปี๋ เป็นซิลลูเอ็ตแน่นอนครับ ปรับความเร็วชัตเตอร์เพื่อดูแค่สีฉากหลัง ปรับตามชอบเลยครับท่าน
  4. Picture Style หรือ Picture Control ใช้แบบสีสด ๆ ไปเลยครับ อาจเลือก Vivid หรือ Landscape โดยปรับเร่ง Saturation ของสีตั้งแต่ในกล้องเลยก็ได้ เร่งไปซักหลาย ๆ ขีดเลย ไม่ต้องกลัวสีหน้าคนเพี้ยน 
  5. WB ใช้สำหรับเล่นสีฉากหลังต่าง ๆ นะครับ ถ้าใช้ auto จะเลือกไม่ค่อยได้ ลองปรับเป็น Shade อาจได้ฟ้าสีออกแดง ๆ ส้ม ๆ หรือบางคนอาจลองใช้อย่างอื่นๆ ดูก็ได้

เทคนิคการถ่ายภาพซิลลูเอ็ตให้สวย

  • ถ่ายช่วงพระอาทิตย์ตก สวยที่สุด ปรับสีต่าง ๆ ได้มาก
  • ตัวแบบต้องชัดเจน มีท่าทาง
  • ถ้าเน้นถ่ายใบหน้า ควรหันข้าง เพื่อให้เห็นสันจมูก
  • ตัวแบบกระโดดทำท่ากลางอากาศ ก็สวยไปอีกแบบ
  • ฉากหลังต้องสวย องค์ประกอบดี สีสวย ลองเล่นกับ WB ดู เพื่อลองสีหลาย ๆ แบบ
  • บางที ต้นไม้ตายที่เหลือแต่กิ่ง ถ่ายคู่กับฉากหลังสีสวย ๆ ก็สามารถได้ภาพระดับเทพนะครับ


ข้อควรระวังในการถ่ายภาพซิลลูเอ็ต

จากประสบการณ์ที่อ่านข้อมูลมาจากเว็บ Pantip และ facebook เกี่ยวกับการถ่ายภาพ อยากเล่าข้อควรระวังให้ฟังในการถ่ายภาพประเภทนี้ครับ

เวลาถ่ายช่วงหัวค่ำ หรือกลางคืนควรไปกันหลาย ๆ คน เพราะช่วงหัวค่ำ หรือกลางคืนเป็นช่วงที่อันตราย ถ้าออกไปถ่ายคนเดียว แล้วไม่ดูอะไรเลย โดนปล้นมาเยอะแล้วครับ คือถ่ายไปต้องมองถนนไปนะครับ ลองคิดดูว่า ถ้าจู่ ๆ เราถ่ายภาพอยู่ แล้วมีคน หรือมอเตอร์ไซค์มาบอกว่า เอากล้องมาซิ จะทำยังไง . . . ดังนั้นให้ไปเป็นกลุ่มดีที่สุดครับ ไปลองอ่านประสบการณ์เรื่องเล่าใน Pantip เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ เยอะมาก ๆ ครับ ดังนั้นการที่เราถ่ายภาพเพื่อความบันเทิง ต้องควบคู่กับเรื่องความปลอดภัยด้วยครับ จึงอยากแชร์มา ณ ที่นี้ครับ

มีความสุขและสนุกกับการถ่ายภาพซิลลูเอ็ตนะครับ . . .

* ถ้าชอบเทคนิคการถ่ายภาพ และรูปที่ผมถ่าย ช่วยทวีต และแชร์ใน G+ หรือเฟซบุ๊คด้วยนะครับ
* ผมจะพยายามเขียนเทคนิคการถ่ายภาพเท่าที่ศึกษามา และประสบการณ์ส่วนตัวในการถ่ายสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพออกมากันสวย ๆ นะครับ blog.suaythep.com แชร์ด้วยใจ. . .



วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การใช้เจลสี เปลี่ยนบรรยากาศ

สวัสดีครับ วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์การถ่ายภาพโดยใช้เจลสีนะครับ ซึ่งเอาใช้ในการถ่ายภาพเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่แปลกตาออกไป หรือใช้สำหรับวันที่ท้องฟ้ามีแต่ฝนตกทุกวัน ไม่รู้จะออกไปถ่ายภาพแบบ outdoor กันยังไงนะครับ เอาฉากมาอันนึง แล้วใช้เจลสียิง ก็สามารถถ่ายภาพเพลิน ๆ สนุก ได้แล้วครับ


เจลสี จริง ๆ แล้ว เจลสีมีประโยชน์หลายอย่างนะครับ ไม่ว่าจะใช้สำหรับ การแก้แสงหลอดทังสเตน หรือฟลูออเรสเซนต์ (แล้วปรับค่า WB ในกล้องให้สอดคล้องกัน) เพื่อให้ภาพของตัวแบบที่ถ่ายออกมามีสีตรงตามธรรมชาติ (ส่วนฉากหลัง สีมันจะแปลก ๆ เพี้ยน ๆ ออกไป) สไตล์นี้เป็นอีกสไตล์หนึ่ง ที่เวลาเราถ่ายเยอะ ๆ จนหมดมุกแล้ว อาจนำมาเล่นได้

เจลสี (แบบแข็ง)

แต่ในบทความนี้ เราจะนำเจลสีมาใช้สำหรับเปลี่ยนสีพื้นหลัง (ฝาผนัง หรือฉาก) แบบง่าย ๆ เลย เพื่อใช้ทำภาพให้มีสีสันสดใสสวยงามกันนะครับ คือในบล็อกของผม เน้นถ่ายเพื่อความบันเทิงเป็นหลักครับ ส่วนเรื่องการใช้เจลสีเพื่อแก้แสง ผมจะอธิบายในโอกาสต่อไปนะครับ

อุปกรณ์ในการถ่ายภาพ

แน่นอน เราก็ต้องมีกล้อง (DSLR) ในที่นี้ใช้ EOS 5D Mark III และเลนส์ (ในที่นี้ใช้ EF 70-200 f/4L IS) แฟลชแยก (เช่น 580 EX II ถ้าจะให้ดี ควรมีแฟลชซัก 2 ตัวเพื่อให้ง่าย สำหรับยิงฉากตัวนึง และสำหรับยิงเข้าตัวแบบอีกตัวนึง) ตัวสั่งการแฟลช (ในที่นี้ใช้ Canon ST-E2) และก็ผนังสีขาว ๆ หรือไม่ก็แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสีขาว หรืออะไรก็ได้ที่มีสีออกขาว ๆ เพื่อทำเป็นฉากหลังนะครับ ท้ายสุดก็คือ เจลสี ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่เจลนิ่ม ๆ นะครับ แต่เป็นก้อนพลาสติก หรือแผ่นพลาสติกที่ทนความร้อนจากการยิงแฟลชสีต่าง ๆ หาซื้อจากอเมซอน หรือตามพันธุ์ทิพย์ เยาฮัน (ฟอร์จูนทาวน์) หรือมาบุญครอง (MBK) ชั้น 5 มีขายเยอะแยะครับ

 เปลี่ยนสีฉากหลัง พร้อมถือพร็อพ

วิธีการจัดแสง

ง่าย ๆ ตรงไปตรงมาเลยครับ นำแฟลชตัวแรกติดเจลสี ยิงเข้าไปที่ฉากหลังสีขาว ปรับโหมดแฟลชไปที่ Slave ครับ แนะนำให้ปรับค่าความแรงแฟลชแบบแมนนวลนะครับ โดยเริ่มแรกอาจลองที่ 1/8 . . . ขออธิบายนิดนึง ค่าแฟลชแรงที่สุดคือ 1/1 ส่วนค่าที่ยิงแฟลชเบาที่สุดคือ 1/128 ครับ เราสามารถหมุนเลือกค่าได้ ถ้าเจลสีเป็นสีเข้ม ๆ สด ๆ อาจต้องยิงแรงหน่อย ไม่งั้นสีไม่ออกครับ

ฉากหลังสีขาว แต่ยิงด้วยเจลสีส้ม

แฟลชตัวที่สอง ยิงเข้าหาตัวแบบ เพื่อทำให้ตัวแบบสว่างเพียงพอครับ ปรับโหมดแฟลชไปที่ Slave เช่นกัน ตั้งค่าความแรงแมนนวลครับ อาจใช้ 1/16 หรือ 1/32 แล้วจ่อเข้าใกล้ ๆ ตัวแบบครับ (อาจยิงผ่านร่มทะลุก็ได้ เพื่อให้หน้าเนียนนุ่มขึ้น แต่ต้องปรับความแรงแฟลชให้สูงขึ้น) อย่างที่เคยบอกแล้วนะครับว่า ยิงแฟลชยิ่งใกล้ แสงยิ่งนุ่ม (เพราะเวลาเข้าใกล้ขึ้น แหล่งกำเนิดแสงใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับตัวแบบ)


ลองใช้เจลสี สีน้ำเงินบ้าง

คราวนี้ที่ตัวกล้อง นำตัวสั่งการแฟลชไร้สาย ST-E2 เสียบที่หัวกล้องเลยครับ สั่งการแฟลชทีเดียว 2 ตัว

ท่านี้พลิกแพลงมากเลย คนถ่ายคิดไม่ออก นางแบบคิดเองครับ

การตั้งค่ากล้อง ปรับโหมด M ครับ ISO ในภาพชุดนี้ตั้งไว้ที่ 1250, รูรับแสง ปรับเป็น f/4 ความเร็วชัตเตอร์ ใช้ 1/80 ครับ (ปล. เลือกให้เหมาะตามสภาพแสงในขณะนั้นนะครับ)


ลองยิงดูซักภาพ ถ้าแสงเบาไป หรือแรงไป ทำได้ 2 อย่างคือ 
1. เลื่อนแฟลชเข้า-ออก 
2. ปรับเพิ่ม-ลดความแรงแฟลช 


ปรับตามสะดวกเลยนะครับ ทั้งแสงฉากหน้า และแสงฉากหลัง เอาให้สวยตามใจเราเลย ไม่มีกฎตายตัวใด ๆ ทั้งสิ้นครับ ในที่นี้ทุกอย่างใช้โหมด M หรือแมนนวลหมดเลยครับ คือตั้งแสงให้พอใจแค่ครั้งเดียว จากนั้นยิงอย่างเดียว เอาความสนใจมุ่งไปที่การจัดท่า และพูดคุยกับตัวแบบ เพื่อให้หายเกร็ง และเป็นธรรมชาติครับ . . .  ถ้าใช้กล้องโหมด Auto (ไม่ว่าจะเป็น Av หรือ TV หรือใช้แฟลชแบบอัตโนมัติ) ค่าแสงต่าง ๆ มันจะเปลี่ยนไป ๆ มา ๆ ทำให้บางทีเราพะวงกับการตั้งค่ากล้องมากเกินไปในการถ่ายลักษณะนี้ครับ

ที่ผมอธิบาย เป็นเพียงแนวทางที่ผมใช้นะครับ ถ้าทุกท่านเข้าใจถึงหลักพื้นฐานอย่างถ่องแท้แล้ว ต่อไปก็สามารถคิดค้น และพัฒนาเทคนิคส่วนตัวออกมาเผยแพร่เองได้ครับ . . . ยังไงเพื่อน ๆ พี่น้องถ่ายภาพแนวนี้ได้แล้ว เอามาแปะโชว์กันบ้างนะครับ จะได้แลกเปลี่ยนเทคนิคเพลิน ๆ ครับ . . . ใครมีบทความอะไร เกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพที่อยากเผยแพร่ บอกผมได้เลยนะครับ ตอนนี้กำลังมีโครงการทำ e-book เกี่ยวกับการถ่ายภาพแจกอยู่ ถ้าใครมีบทความที่เขียนเองแล้วอยากมาลง e-book ของผม สามารถนำมาลงได้ และสามารถทำลิงค์กลับไปโปรโมทเว็บหรือบล็อกของตัวเองได้ครับ

เจลสีจาก Amazon ราคา $24.95

ใครขี้เกียจหาซื้อ ก็กดซื้อจากอเมซอน ตรงนี้ ได้เลยนะครับ ผมทำลิงค์ไว้ให้แล้ว

ปล. ในที่นี้ผมอธิบายโดยใช้รุ่นต่าง ๆ ของกล้องแคนนอนเป็นหลักนะครับ ถ้าพูดทุกยี่ห้อ อาจทำให้หน้ามืดได้ รวมทั้งตัวผมเองด้วย 5 5 5

* ถ้าชอบเทคนิคการถ่ายภาพ และรูปที่ผมถ่าย ช่วยทวีต และแชร์ใน G+ หรือเฟซบุ๊คด้วยนะครับ
* ผมจะพยายามเขียนเทคนิคการถ่ายภาพเท่าที่ศึกษามา และประสบการณ์ส่วนตัวในการถ่ายสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพออกมากันสวย ๆ นะครับ blog.suaythep.com แชร์ด้วยใจ. . .