วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

การเลือกซื้อเลนส์ให้คุ้มค่า

หลังจากที่เรามาเริ่มเล่นกล้อง DSLR กันแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการเลือกซื้อเลนส์ หลังจากที่เริ่มเบื่อเลนส์คิด 18-55 ที่เค้าแถมมาให้กับกล้อง


เราจะเลือกซื้อเลนส์อย่างไรดี จึงจะคุ้มค่า

"ความคุ้มค่า = การได้ใช้งาน"

ถ้าซื้อมาแล้วได้ใช้บ่อย ๆ ใช้ทุกวัน ถือว่าคุ้มค่ามาก แต่ถ้าซื้อมาแล้วเก็บในตู้ตลอด ปีนึงได้ใช้ทีนึง ถือว่าไม่คุ้มค่าครับ . . . ในบล็อกนี้ ผมจะไม่บอกว่า เลนส์อะไรดี ๆ ให้ซื้อมาให้หมด เพราะทำอย่างนั้น มันไม่คุ้มค่านะครับ เปลืองเงินโดยใช่เหตุ . . . คืออะไรที่เราไม่ถ่าย เราไม่ต้องซื้อครับ

สำหรับมือใหม่ ๆ ที่เพิ่งซื้อกล้องมา หลังจากที่ทดลองเลนส์ 18-55 ไปซักพักหนึ่ง ซึ่งทั้งกล้องยี่ห้อแคนนอนและนิคอนจะชอบแถมเลนส์ตัวนี้มาเป็นประจำ แถมอย่างนี้มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว ซึ่งจริง ๆ เค้าก็ไม่ได้แถมหรอกครับ คิดเงินรวมเข้าไปแล้วล่ะครับ แล้วบังคับซื้อไปเลย . . . ขั้นต่อไปเราก็จะเริ่มหาเลนส์เพิ่มเติมมาใช้กัน สิ่งที่แนะนำได้เป็นลำดับขั้นตามนี้ก็คือ

เลนส์มาโคร 100

1. สำรวจก่อนว่า ตัวเองชอบถ่ายภาพแนวไหน

ถ้าชอบถ่ายคนที่บ้าน ลูก ๆ หลาน ๆ ครอบครัว หรือถ่ายภาพคนมากกว่าภาพวิว หรือชอบถ่ายไปเรื่อย ๆ แบบว่าเวลาไปเที่ยว ต้องให้คนยืนข้างหน้าตามที่ต่าง ๆ แล้วค่อยถ่ายภาพคนให้ติดวิวด้านหลัง ถ้าเป็นแบบนี้ ถือว่าเราชอบถ่ายภาพคนนะครับ . . . . เลนส์ยอดฮิตที่มือใหม่นิยมต่อจากเลนส์คิตที่แถมมาให้ก็คือ EF 50 1.8 ครับ โดยที่ตัวเลนส์ทำจากพลาสติก น้ำหนักเบา เหมาะกับมือใหม่ และเป็นระยะที่ถ่ายภาพคนได้ไม่เลว ละลายฉากหลังได้ง่าย ราคาถูกมาก ๆ (ถูกที่สุดเลยก็ว่าได้) . . . เลนส์ตัวนี้เป็นระยะโฟกัสคงที่ หรือเรียกว่าเลนส์ฟิกซ์นะครับ สำหรับมือใหม่เวลาเอามาใส่ จะรู้สึกแปลก ๆ นิดหน่อย เพราะมันซูมไม่ได้ จะถ่ายอะไร ต้องเดินเข้าเดินออกเพื่อกำหนดระยะถ่ายเอง

เลนส์อีกตัวที่อยากแนะนำสำหรับผู้ที่ชอบถ่ายคน ก็คือเลนส์ EF-S 55-250 ซึ่งเป็นเลนส์เทเลซูมที่เหมาะสำหรับมือใหม่มาก ๆ เนื่องจากระยะโฟกัสที่ยาวมาก ๆ นำมาประกอบบนกล้อง Crop factor คูณ 1.6 ของแคนนอน ก็เทียบเท่ากับเลนส์ระยะ 88-400 บนกล้องฟุลเฟรมทีเดียว เรียกว่าหากเจอนก หรืออะไรตัวเล็ก ๆ อยู่ไกล ๆ ก็สามารถดึงเข้ามาจนใกล้ได้เลย หรือจะเอาไว้ถ่ายดวงจันทร์ ก็ไม่เลวทีเดียว

หากชอบท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ และชอบถ่ายภาพวิวเยอะ ๆ ไม่ค่อยถ่ายคนที่บ้าน หรือเพื่อน ๆ เท่าไหร่ ก็แนะนำเลนส์ไวด์ EF-S 10-22 (สำหรับกล้อง Crop factor ที่มีเซนเซอร์ APS-C) นะครับ เลนส์ตัวนี้ เหมาะสำหรับถ่ายภาพวัด ภาพวิว ภาพทิวทัศน์ มีมุมมองที่กว้างมาก ๆ หากเทียบกับกล้องฟุลเฟรม จะเทียบได้กับระยะ 16-35 ซึ่งเป็นเลนส์ไวด์ซูมตัวเทพของแคนนอนเลย

เลนส์ 50 ธรรมดา

2. ดูงบประมาณ ว่ามีมากน้อยเพียงใด 

>>> หากมีงบไม่จำกัด แนะนำให้ใช้เลนส์ L หรือเลนส์นาโนอย่างเดียวครับ แล้วก็รีบหากล้องฟุลเฟรมมาใช้โดยด่วนที่สุด เพราะภาพที่ได้จากกล้องเหล่านี้ จะมีคุณภาพดีมาก ๆ เมื่อบวกกับเลนส์ดี ๆ จะช่วยเสริมกันได้อย่างสมบูรณ์ ลองไปดูช่างภาพที่ถ่ายสวย ๆ ทุกคนใช้กล้องฟุลเฟรมทั้งนั้นครับ สำหรับผู้ที่เพิ่งมาเล่นกล้องฟุลเฟรมใหม่ ๆ ลองดูเลนส์ 3 ระยะนี้ครับ 16-35, 24-70, 70-200 สำหรับกล้องแคนนอน ส่วนสำหรับกล้องนิคอน ต้องใช้ 14-24, 24-70, 70-200 ถ้ามีครบ 3 ระยะนี้ก็ถ่ายได้แทบทุกสถานการณ์ครับ

>>> หากต้องใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า และไม่ต้องการซื้อเลนส์บ่อย ๆ ก็ให้ใช้เลนส์ซูมครับ ลองดูเลนส์อเนกประสงค์ ตัวเดียวใช้ทุกสถานการณ์ของ Tokina 18-270 คือซื้อตัวเดียว แล้วไม่ต้องซื้อเลนส์อะไรอีกเลย มีครบทุกระยะ แต่ก็ต้องแลกกับคุณภาพว่าจะสู้เลนส์ฟิกซ์ หรือเลนส์ซูมที่มีช่วงการซูมระยะสั้น ๆ ไม่ได้ เช่น EF 16-35, EF 24-70, EF 70-200 คือยิ่งเลนส์มีช่วงการซูมสั้นลง ยิ่งมีคุณภาพดีขึ้น ส่วนถ้าเป็นเลนส์ฟิกซ์เลย จะมีคุณภาพดีที่สุดครับ

เลนส์ 35 นาโน

สำหรับเลนส์ฟิกซ์เอง ก็มีหลายเกรดครับ มีตั้งแต่ราคาน่าคบหา ราคากลาง ๆ ไปจนถึงราคาสูงลิ่ว เช่นเลนส์ระยะ 50 มม. ก็มีตัว 50 f/1.8, 50 f/1.4 แล้วก็ 50 f/1.2L หรือเลนส์ 85 มม. ที่ว่ากันว่าเป็นระยะที่เหมาะกับการถ่ายคน หรือถ่ายคนแล้วออกมาสวยที่สุด ก็มีตัว 85 f/1.8 ราคาประหยัด ส่วนตัวแพงก็จะเป็น 85 f/1.2L มีทั้งมาร์ก 1 และ 2 เลยครับ สำหรับค่ายนิคอน ก็เช่นเดียวกัน เลนส์แต่ละระยะ จะมีการผลิตออกมาหลายระดับ เช่น เลนส์ 85 ก็มีทั้งตัว f/1.8 และ f/1.4 เลยครับ ก็เลือกใช้ให้เหมาะกับงบประมาณ และที่ตัวเองชอบนะครับ

"เลนส์เทเลถ่ายสวยง่าย เลนส์ไวด์ถ่ายสวยยาก"

ข้อแนะนำสำหรับมือใหม่จริง ๆ (มือเก่าไม่ต้องทำตามนะครับ)
  1. เมื่อซื้อกล้องมา ให้ใช้ EF-S 18-55 ถ่ายให้คล่องก่อน เพราะเลนส์ช่วงนี้เทียบเท่าเลนส์นอร์มัล ถ่ายได้ทุกสถานการณ์อยู่แล้ว และทางด้านไวด์ ก็เพียงพอที่จะเก็บวิวได้เกือบทุกสถานการณ์อยู่แล้ว หากต้องการละลายฉากหลัง ก็ให้พยายามถ่ายที่ระยะ 55 มม. แล้วเปิด f กว้างสุด แล้วก็พยายามถ่ายจ่อ ๆ นางแบบ ใช้พลาง ๆ ไปก่อน มันจะละลายฉากหลังไม่ได้มาก เพราะบริษัทขายกล้องเค้าออกแบบไว้อย่างงั้น เพื่อที่คนจะได้ไปซื้อเลนส์เพิ่ม
  2. พอได้ได้ซักพัก ช่วงแรก ๆ ให้เริ่มจากเลนส์เทเลก่อน เช่น EF-S 55-250 เพราะถ่ายง่าย กดอะไรก็ออกมาค่อนข้างสวยง่าย ทำให้มีกำลังใจ อยากถ่ายต่อไปเรื่อย ๆ 
  3. เมื่อผ่านไปอีกซักช่วง หากต้องการถ่ายพอร์ตเทรตมากขึ้น ก็ให้ลอง EF 50 f/1.8 ราคาประหยัด แต่ได้ผลงานที่คุ้มค่า สามารถทำให้เพื่อน ๆ ร้องว้าวได้สบาย ๆ เลนส์ตัวนี้ เค้าออกแบบมาให้เป็นพลาสติกเบา ๆ สำหรับมือใหม่โดยเฉพาะ แต่การใช้งานต้องระวังกระแทกนะครับ เพราะพังง่าย สมัยก่อนตอนผมหัดใหม่ ๆ ใช้จนพังมาแล้ว 
  4. เมื่อคิดว่าถ่ายเลนส์เทเลเก่งแล้ว หรือเบื่อแล้ว และพัฒนาการจัดองค์ประกอบได้ดีขึ้นแล้ว ค่อยมองหาเลนส์ไวด์มาใช้ โดยอาจเป็นเลนส์ EF-S 10-22 หากคิดว่าจะใช้กล้องบอดี้นี้ต่อไปอีกนานมาก ๆ หรือถ้าจะเปลี่ยนกล้อง ก็คงใช้กล้อง APS-C ต่อไปอีก เลนส์ 10-22 นี้นับเป็นเลนส์ที่ดีที่สุดสำหรับกล้องตัวคูณนี่แล้วครับ แต่หากคิดว่าอีกไม่นาน คงเปลี่ยนไปใช้กล้องระดับฟุลเฟรม ถึงช่วงนี้แล้ว เวลาจะซื้อเลนส์ใหม่ ให้ดูเฉพาะเลนส์ EF เท่านั้น เพื่อที่จะได้นำไปใช้ในกล้องฟุลเฟรมต่อได้ 
เลนส์ L ของค่ายแคนนอน หัวเลนส์จะมีแหวนสีแดง

เลนส์แพง จำเป็นต้องดีไหม?

เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย และถามผมเป็นประจำ แน่นอนว่าของแพง มันต้องดีแน่นอน แต่ว่ามันจะเหมาะกับเรา หรือเราจะเหมาะกับมันหรือเปล่า นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ

ยกตัวอย่างเช่น เลนส์ EF 200 f/2L มันถ่ายออกมาสวยแน่นอน แต่ว่าน้ำหนักตัวเลนส์เยอะมาก แล้วถ้าหากต้องการถ่ายวิว แทบจะถ่ายไม่ได้เลย ส่วนมากแล้ว เลนส์ระยะโฟกัสคงที่ จะเป็นเลนส์เฉพาะทางครับ เลนส์แต่ละตัวจะมีสถานการณ์การใช้ที่แน่นอน แต่ภาพที่ได้นั้น จะมีคุณภาพสูงมาก ๆ หรือเลนส์อีกตัวคือ EF 14 f/2.8L II ซึ่งเป็นเลนส์ไวด์คุณภาพสูงสุดของค่ายแคนนอน ถ่ายวิวออกมา สวยแน่นอน แต่หากบังเอิญเราเดินผ่านพริตตี้ จะถ่ายได้ไหม ถ่ายออกมาหน้าบานชัวร์ (ปกติถ่ายคน หากใช้เลนส์ไวด์ หน้าจะอ้วน บาน และไม่สมส่วน) แต่ถ้าบังเอิญกล้องเราติดเลนส์ซูม 24-70 ไว้ ถึงแม้คุณภาพของภาพจะไม่สุดยอดที่สุด แต่ก็สามารถถ่ายได้พอสมควร และนำไปโชว์ได้บ้างแบบไม่อายใคร . . . อะไรอย่างนี้เป็นต้น

>>> หากถ่ายภาพไปนานมาก ๆ ตู้เลนส์ทั้งตู้จะเหลือแต่เลนส์ฟิกซ์ดี ๆ เท่านั้น เพื่อน ๆ ที่เป็นเซียนกล้องของผมทุกคน ก็ใช้แต่เลนส์ฟิกซ์ทั้งนั้น ไม่มีใช้เลนส์ซูมกันซักคน . . . . เวลาจะไปทริป เค้าจะศึกษาอย่างละเอียดว่าทริปนั้นมีอะไรบ้าง ต้องพกเลนส์อะไรไป หรือทริปที่จะไป เค้าจะเน้นถ่ายภาพอะไรโดยเฉพาะ บางทีไปทริปหนึ่งครั้ง อาจมีภาพระดับสุดยอดเพียง 3-4 ภาพเท่านั้น (แต่ดีกว่ามี 100 ภาพ แต่ไม่สุดยอดซักภาพ)

แต่พอมีอุปกรณ์ดี ๆ เต็มตู้แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาแล้วนะครับ เพราะบางที การจะไปไหนซักครั้ง คิดหนักเลยครับ ต้องนั่งจินตนาการว่า ไปถึงที่หมายแล้ว จะเจออะไร สภาพแสงเป็นอย่างไร มีอะไรถ่ายบ้าง อะไรเป็นจุดเด่นของที่ที่เราจะไป แล้วมาเลือกเลนส์กับอุปกรณ์ให้เหมาะ บางทีเลือกไม่ถูกครับ แต่ถ้าจะขนไปหมดเลย ก็แบกไม่ไหวอีก (เลนส์ดี ๆ ส่วนมากจะน้ำหนักมาก) . . . กลัวหายด้วย ตอนผมไปทริปอเมริกาครั้งแรก ขนไปเยอะเลยครับ กล้องฟุลเฟรม 2 ตัว เลนส์อีก 7 ตัว ปรากฏหน้ามืด . . . . ทั้งหมดนั่นก็ทิ้งอยู่ที่บ้านที่อเมริกาแทน เวลาออกไปเที่ยว ก็เอาไปได้ทีละตัวอยู่ดี . . . ตอนไปอเมริการอบ 2 ตอนปีใหม่ คราวนี้มีประสบการณ์แล้ว ก็ขน D800 ตัวนึงแล้วเลนส์ 35 กับ 85 แล้วก็เลนส์ 28-300 ไปอีกตัว สรุปว่าก็ยังหนักไปอยู่ดี . . . เดี๋ยวนี่จะไปรอบ 3 แล้ว เป็นยังไงเดี๋ยวกลับมาเล่าให้ฟังนะครับ

บางทีเลือกเลนส์มาอย่างดีแล้ว พอไปถึงที่ เหตุการณ์ดันไม่เป็นอย่างที่คิด คือท้องฟ้าดันเปลี่ยน แบบว่าไปฮ่องกง 3 วันฟ้าอึมครึมตลอด หรือจู่ ๆ ดันไปเจอคนสวย ๆ ที่ต้องใช้เลนส์เทเลถ่าย บางทีน้อง ๆ ในกลุ่ม พกเลนส์อเนกประสงค์ (ตัวเดียวใช้ทุกสถานการณ์) ไปตัวเดียว กลับได้ภาพดี ๆ สวยกว่าเราก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ

* * * จะถ่ายภาพให้ได้ขั้นเทพ ต้องอุปกรณ์ดี จินตนาการดี ฝีมือดี และมีโชคช่วยด้วย * * **

ท้ายที่สุด สรุปว่าไม่มีอะไรดีที่สุดหรอกครับ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่แพงที่สุด จะดีที่สุดเสมอไป ที่สำคัญคือว่า เราต้องรู้ว่า แต่ละสถานการณ์เราจะใช้อะไร จึงจะเหมาะสมที่สุด และได้ผลลัพธ์ในแบบที่เราต้องการมากที่สุดครับ . . . หวังว่าประสบการณ์นี้ คงเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อกล้องกับเลนส์ตัวถัดไปของเพื่อน ๆ พี่น้องไม่มากก็น้อยนะครับ . .  ไว้พบกันใหม่


วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

การทำริมไลท์

การทำริมไลท์ (Rim Light)

ริมไลท์ หรือแสงขอบ ที่ดูเหมือนเป็นการตัดเส้นตัวแบบโดยใช้แสงธรรมชาตินั้น เป็นเทคนิคที่สามารถทำให้ภาพน่าสนใจมากขึ้นทีเดียว โดยมีหลักในการจัดแสงที่ไม่ยากเลย

ตัวอย่างของภาพที่มีการทำริมไลท์






วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การโพสท่า

การโพสท่า

จริง ๆ แล้ว การยืนตรง ๆ ก็ถือว่าเป็นการโพสท่าชนิดหนึ่ง แต่ว่าเนื่องจากคนใช้กันเยอะแล้ว อาจจะน่าเบื่อ ดังนั้นในบล็อกนี้ ผมจะลองนำเสนอไอเดียอื่น ๆ ให้นำไปลองใช้ดูบ้างนะครับ

การโพสท่าถ่ายภาพ สูตรของผม ง่ายนิดเดียวครับ อย่ายืนตรง ๆ เหมือนเคารพธงชาติ แค่นั้นจบ . . .

วันนี้จะมีเทคนิคและท่าง่าย ๆ สำหรับการถ่ายภาพมาแชร์นะครับ การยืนถ่ายภาพ ไม่ควรยืนจังก้า หันหน้าเข้ากล้องตรง ๆ ควรบิดซ้าย หรือบิดขวา หันข้างให้กล้อง หรือทำไหล่ 2 ข้างให้ไม่เท่ากัน (แล้วแต่จะคิดออกนะครับ) รูปติดบัตรหน้าตรง มีกันเยอะแล้ว อันนี้เราถ่ายเพื่อความบันเทิง ภาพที่ออกมา มันต้องแฝงไว้ด้วยความสนุกนิดหน่อยครับ . . . .

วันก่อนไปงานแต่งงาน ช่างภาพมืออาชีพ เดี๋ยวนี้เค้าประยุกต์แล้วครับ เมื่อก่อนจะให้ยืนเรียงเฉย ๆ เรียงหน้ากระดานแล้วถ่าย แต่เดี๋ยวนี้มีการสอนให้ทำท่าต่าง ๆ ด้วยครับ วันนี้ผมจะมาเขียนเกี่ยวกับเรื่องมือก่อนครับ เท่าที่ดู ๆ มา คนไทยนิยมใช้มือทำท่าอยู่ 4 ท่า ง่ายๆ ดังนี้คือ

1. ท่าชู 2 นิ้ว อันนี้เป็นท่าสิ้นคิดเลยครับ แต่ก็ยังดีกว่ายืนเอาแขนแนบลำตัวไว้เฉย ๆ ถือว่าเป็นท่าบังคับที่เป็นที่นิยมอันดับแรก

ท่าชู 2 นิ้ว จำง่าย ถ่ายสบาย

2. ท่า I Love You เป็นท่าที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ทำโดยการแบมือออกมาแล้วหุบนิ้วนางกับนิ้วกลางเข้าไป เหลือไว้แค่ 3 นิ้วเท่านั้น ท่านี้ดารานักร้องไทยใช้กันบ่อยครับ แต่ปัจจุบัน พวกเราคนธรรมดาก็เริ่มเอามาใช้กันบ้างแล้ว แต่สำหรับต่างประเทศ อันนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ

ท่า I Love You 

3. ท่า Like ทำง่าย ๆ ครับ ก็คือการชูนิ้วโป้งอย่างเดียว สมัยก่อนเรียกท่านี้ว่าท่ายอดเยี่ยม แต่พักหลัง ๆ เฟซบุ๊คดังมาก และใช้สัญลักษณ์นี้ในการกด Like จึงทำให้ท่านี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ท่า Like

ท่า Like 

4. ท่าชูกำปั้น หรือที่ช่างภาพเรียกว่า ท่าเย้ หรือ Oh Yeah! หรือท่า YES เป็นท่าที่แสดงความดีใจ คิดว่าคงแผลงมาจากคำว่า Yes! ที่เรามักเห็นในหนังฝรั่ง เวลาทำอะไรสำเร็จแล้วสะใจ จะชูกำปั้น แล้วร้องว่า Yes อยู่บ่อย ๆ

ท่าชูกำปั้น

อย่านึกว่าท่านี้ไม่ดังนะครับ ท่านี้เป็นท่าที่เวลาถ่ายหมู่หลาย ๆ คน แล้วมีการนัดแนะกันไว้ก่อน จากนั้นตากล้องจะเป็นคนนับ 1 - 2 - 3 พอจังหวะที่ 3 ให้ทุกคนร้องเย้ พร้อม ๆ กัน (ทำท่าเหมือนดีใจมากโดยไม่ทราบสาเหตุ) . . . ผลลัพธ์คือภาพที่ออกมา จะดูเป็นธรรมชาติมากเลยนะครับ ยังไงลองไปทำกันดูนะครับ ถือว่าเป็นเทคนิคที่ใช้ได้ผลทีเดียว . .

ถึงแม้มือจะอยู่ข้างล่าง แต่ผมไม่มียอมยืนตรง ๆ เด็ดขาด

สังเกตว่า ไม่ว่าจะทำท่าอะไร จะพยายามไม่ยืนตรงแน่นอน จะต้องมีเอียง มีโน้มตัว หรือบิดตัว เอียงซ้าย เอียงขวา หรืออะไรซักหน่อย (เพราะรูปติดบัตรมีเยอะแล้ว ไม่อยากได้อีก) คนอื่น ๆ ก็เหมือนกันครับ (ใจเขาใจเรา) แต่บางที เริ่มถ่ายใหม่ ๆ ดังนั้น เราในฐานะตากล้อง ต้องมีหน้าที่แนะนำคนที่เราถ่ายด้วยว่า จะให้เค้าทำท่าอะไร บางทีเราก็นึกไม่ออก เค้าก็จะชอบถามว่าให้ทำท่าอะไร เราก็ควรแนะนำท่าง่าย ๆ ให้ตัวแบบทำมือทำไม้ซัก 4-5 ท่านี้ไปก่อน พอถ่ายไปได้ซักพัก รับรองเดี๋ยวท่าอื่น ๆ จะออกมาเองตามธรรมชาติ . . .

บางครั้ง ใช้มือทำ 4 ท่าที่แนะนำไปเบื่อแล้ว เราก็คิดท่าใหม่ ๆ ขึ้นมาเองก็ได้

ส่วนวิธีการขั้นแอดวานซ์ อันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลครับ

บล็อกต่อไป จะมาเขียนเกี่ยวกับท่ายืน ท่านั่ง และการใช้เก้าอี้ประกอบครับ

ส่วนใครพอเข้าใจพื้นฐานแล้ว ก็ต้องนำไปประยุกต์เองนะครับ. . .

อุปกรณ์
Nikon D800
Canon EOS 5D Mark III

แสง

แสงกับการถ่ายภาพ

จริง ๆ เรื่องนี้ ถ้าเป็นหนังสือที่วางขายตามร้านหนังสือ เราควรเขียนเป็นเรื่องแรกเลยด้วยซ้ำ แต่นี่ของเราเป็นบล็อก เลยตามใจคนเขียนนิดหน่อย นึกเรื่องอะไรออก ก็เขียนเรื่องนั้น . . . 


การถ่ายภาพ หรือภาษาอังกฤษว่า Photography คือ การวาดภาพด้วยแสง  แสงเปรียบเหมือนสีที่จิตรกรใช้ในการวาดภาพ ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแสงอย่างถ่องแท้ ลึกซึ้ง และทราบเทคนิคการเก็บแสงสีเป็นอย่างดี แน่นอนว่า เราจะได้ภาพสวย ๆ อย่างแน่นอน ดังนั้น "แสง" จึงมีความจำเป็นที่สุดต่อการถ่ายภาพ เหมือนจิตรกร ถ้าไม่มีสี ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำ สีเทียน สีน้ำมัน หรือสีต่างๆ ก็ไม่รู้จะวาดภาพยังไง . . . เราก็เช่นกัน ถ้าไม่มีแสง ไม่ว่าจะแสงอาทิตย์ แสงเทียน แสงจากหลอดไฟ หรือแสงจากดวงจันทร์ ก็ไม่รู้จะถ่ายภาพยังไง ฉันใดก็ฉันนั้น . . .  

อันนี้เป็นความจริง สำหรับช่างภาพเลยนะครับ พึงระลึกไว้เสมอ

* ถ้าไม่มีแสง ก็ไม่ต้องถ่าย *
* ถ้าแสงไม่สวย ถ่ายออกมาก็ไม่สวย *
* ถ้าแสงธรรมชาติไม่มี ใช้แสงประดิษฐ์ได้ไหม? *

บล็อกนี้ ผมจะอธิบายเนื้อหาเกี่ยวกับแสงนะครับ เริ่มต้นด้วยประเภทของแหล่งกำเนิดแสงกันก่อน

แสงธรรมชาติ - คือแสงที่ได้จากดวงอาทิตย์ (หรือบางครั้งอาจเป็นดวงจันทร์) นั่นเอง แสงธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่ให้สีถูกต้องสวยงามเป็นธรรมชาติมากที่สุด

อุปสรรคของการใช้แสงธรรมชาติถ่ายภาพ คือมักไม่สามารถกำหนด หรือบังคับแสงให้ไปในทิศทางที่เราต้องการ หรือไม่สามารถควบคุมปริมาณความเข้มของแสงได้ ทำได้อย่างดีแค่ดัดแปลงนิดหน่อย เช่น การใช้รีเฟล็กซ์สะท้อนแสงอาทิตย์ เพื่อไม่ให้นางแบบของเราโดนแสงที่แข็งเกินไป (ทำให้ไม่สวย) เป็นต้น ผมมีเขียนไว้ในอีกบล็อกนึงอยู่แล้วนะครับ ลองไปหาอ่านกันดู

นอกจากนี้เรายังไม่สามารถบังคับให้ฟ้าสวย หรือบังคับให้มีเมฆมาก หรือทำให้แสงนุ่ม แสงแข็ง หรือเป็นไปตามที่เราต้องการได้ ทุกอย่างแล้วแต่ดวงทั้งสิ้น ดังนั้นการถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติ จึงต้องมีการวางแผนมาเป็นอย่างดี เนื่องจากสภาพแสงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แสงประดิษฐ์ - คือแสงที่ได้จากสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่นแสงจากหลอดไฟฟ้า แสงแฟลช การถ่ายภาพด้วยแสงประดิษฐ์จะสามารถควบคุมทิศทางความเข้ม ตลอดจนตำแหน่งของแหล่งกำเนิดแสงได้ ซึ่งทำให้ได้รับความสะดวกกว่าการใช้แสงธรรมชาติ

แสงประดิษฐ์ แบ่งเป็นชนิดต่าง ๆ ดังนี้

- แสงประดิษฐ์ในสิ่งแวดล้อม เช่น ไฟตามท้องถนน ไฟในสถานที่ สำหรับแสงประเภทนี้ เราควบคุมอะไรไม่ได้ครับ ทำได้อย่างดีที่สุด ก็คือย้ายตัวเองไปยังตำแหน่งที่เราจะได้แสงที่ต้องการ (เลือกมุมแสง หรือหาทิศทางแสง) พูดง่าย ๆ คือ เล่นกับทิศทางแสงนั่นเอง

- แสงที่คนถ่ายเป็นผู้ประดิษฐ์เอง เช่น แฟลชติดหัวกล้อง แฟลชแยก ไฟสตูดิโอ อันนี้เราจัดวางได้ตามสบายเลยครับ ยิ่งมีอุปกรณ์เยอะ ยิ่งได้เปรียบ (แต่ก็เปลืองเงินนะครับ) เราสามารถวางแสงเพื่อถ่ายแบบ ตามแสง ย้อนแสง ทำไรผม แสงข้าง แสงเพื่อถ่ายแนวเรมบรันต์ หรืออะไรก็ได้ สุดแท้แต่ . . .

ในหัวข้อต่อ ๆ ไปจะมีการอธิบายเกี่ยวกับการใช้แฟลช ทั้งแฟลชติดหัวกล้อง แฟลชแยก แฟลชหลายตัว หรือการใช้ไฟสตู (หรือไฟสตูดิโอ ช่างภาพเค้านิยมเรียกกันสั้น ๆ แบบนี้นะครับ)

การเปลี่ยนเลนส์

บล็อกนี้ ผมจะมาแนะนำเรื่องการใส่เลนส์ หรือการเปลี่ยนเลนส์อย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้ฝุ่นเข้ากล้อง


การใช้กล้อง DSLR เนื่องจากเป็นกล้องที่สามารถเปลี่ยนเลนส์เองได้ ดังนั้น หากเราไม่ระวัง ฝุ่น และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ก็จะปลิวเข้าไปเกาะเซนเซอร์กล้องเราได้ง่าย ปกติถ้าไม่ขยายภาพมากจะไม่เห็นครับ แต่ถ้าบังเอิญถ่ายพวกท้องฟ้าใส ๆ หรือภาพที่สว่าง ๆ จะเห็นเป็นดวง ๆ บนท้องฟ้า ซึ่งบอกได้ชัดเจนว่าเป็นฝุ่น หากเราถ่ายไปหลาย ๆ ภาพแล้ว ดวง ๆ เหล่านั้นอยู่ที่เดิม ก็หมายความว่าเกิดจากฝุ่นอย่างแน่นอน ดูภาพแล้ว ความสวยงามลดลงไปเยอะเลยครับ

สำหรับวิธีแก้ ก็คือต้องใช้ผู้ชำนาญเป่าฝุ่นออกให้ หรือจะเป่าเองก็ได้ ส่วนวิธีการเป่าฝุ่น เดี๋ยวผมค่อยเขียนบล็อกแนะนำในบล็อกถัดไปแล้วกันครับ


ข้อควรปฏิบัติในการเปลี่ยนเลนส์
  • ควรหาสถานที่ซึ่งอากาศนิ่ง ไม่มีลมเป่า ไม่มีพัดลม หรือแอร์เป่าลงมาโดน
  • ปิดสวิตช์กล้องก่อน สำหรับข้อนี้ ที่ร้านขายกล้องแนะนำมานะครับ เพราะบริเวณคอนแทคนั้นเป็นวงจรไฟฟ้า หากจู่ ๆ เราบิดเข้าออก อาจทำให้เกิดการลัดวงจรได้
  • คว่ำกล้องลง โดยให้เลนส์ชี้ลงที่พื้น เพื่อให้ฝุ่นเข้าได้ยากขึ้น เพราะปกติฝุ่นจะตกจากบนลงล่าง ยกเว้นซวยจริง ๆ ฝุ่นจึงปลิวจากด้านล่างขึ้นด้านบน (ลมกรรโชก)
  • ถอดเลนส์ออก รีบเอาฝาจากเลนส์ที่จะเปลี่ยน หมุนปิดเลนส์ที่ถอดออกมาให้เรียบร้อย
  • ใส่เลนส์ใหม่เข้ากับกล้อง ด้วยความรวดเร็ว . . . ถ้าเป็นเลนส์ EF ให้จุดสีแดงตรงกับจุดสีแดง ถ้าเป็นเลนส์ EF-S ให้จุดสีขาวตรงกับจุดสีขาว ส่วนเลนส์ Nikkor จะเป็นสัญลักษณ์จุดสีขาวเช่นเดียวกัน สำหรับเลนส์แคนนอนและนิคอน หมุนกันคนละข้างนะครับ ใครที่ใช้กล้องยี่ห้อเดียวคงไม่สับสนและจำได้ว่ายี่ห้อตัวเองหมุนด้านไหนครับ
  • เปิดสวิตช์กล้อง

ข้อควรระวังในการเปลี่ยนเลนส์
- ไม่ควรเปลี่ยนเลนส์ในที่ซึ่งมีฝุ่นมาก
- ไม่ควรเปลี่ยนเลนส์ในที่ซึ่งมีความชื้นมาก เดี๋ยวความชื้นเข้า
- ไม่ควรเปลี่ยนเลนส์ริมทะเล เนื่องจากลมแรง อาจมีทรายปลิวเข้าไปในกล้องได้


เทคนิคการแพนกล้องขณะถ่าย

** เทคนิคการแพนกล้องขณะถ่าย **

เทคนิคการแพนกล้อง เพื่อถ่ายภาพให้ดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหว

วันนี้ผมจะมาแนะนำเรื่องการแพนกล้องตามวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตัวแบบหยุดนิ่ง ในขณะที่ฉากหลังเบลอเป็นแนว (เสมือนเคลื่อนไหวอยู่) ลักษณะการเบลอของฉากหลังนี้ ไม่เหมือนกับการเบลอจากการไม่ได้โฟกัสเหมือนที่เราถ่าย Portrait นะครับ ฉากหลังแบบนี้จะออกเป็นแนว ถ้าเกิดมีแหล่งกำเนิดแสง ก็อาจจะลากเป็นเส้นให้เห็นในภาพด้วย

สำหรับวิธีการถ่าย  วิธีง่ายสุด คือหมุนกล้องมาที่โหมด Tv (ตั้งความเร็วชัตเตอร์เอง) อย่างอื่นให้มัน Auto ให้หมด แล้วเวลาถ่าย ให้แพนมือถ่ายในขณะที่กดชัตเตอร์ไปพร้อม ๆ กัน สำหรับกล้องที่ใช้ก็เป็นกล้องอะไรก็ได้นะครับ ที่ปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ได้ แต่ถ้าจะให้ดีและง่าย ก็ต้องใช้ DSLR จะเหมาะที่สุดแล้วครับ

EOS 100D, ISO320, ความเร็วชัตเตอร์ 1/10, f/3.2

สำหรับวิธีการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์นะครับ จะแตกต่างกันไปตามความเร็วของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ ถ้าเคลื่อนที่เร็ว ก็อาจจะตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้สูงหน่อยได้

สำหรับปลาฉลามตัวเล็ก ๆ ที่ว่ายเร็ว ๆ อย่างนี้ ผมแนะนำให้เริ่มที่ 1/10 วินาทีครับ ผมมาบ่อยมากจนจำตัวเลขได้แล้วครับ ถ้าถ่ายไปซัก 3-4 รูปแล้ว ตัวปลาชัดเป๊ะ ตาปลาคมกริบ และฉากหลังเบลอเป็นเส้น ๆ อันนี้ถือว่าใช้ได้ครับ ถ้าถ่ายยังไงไม่ชัดซักที อาจเพิ่มความเร็วชัตเตอร์เป็น 1/15 วินาที แล้วลองใหม่ครับ . . . แต่ถ้าถ่ายไปแล้ว ปรากฏว่าชัดหมดทั้งภาพ ฉากหลังก็หยุดนิ่งไปด้วย ให้ลดความเร็วลงให้ต่ำกว่านี้อีก อาจเป็น 1/8 วินาที หรือ 1/4 วินาที แต่ความเร็วยิ่งช้า ยิ่งทำให้ฉากหน้าชัดเป๊ะยากนะครับ แต่ถ้าทำได้ ภาพจะยิ่งดูน่าสนใจมากขึ้น

สำหรับฉลามตัวใหญ่ ๆ ที่ว่ายน้ำช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ อาจใช้ 1/5 วินาทีครับ วันนี้ผมถ่ายมาแต่ฉลามตัวเล็ก ๆ โดยใช้ Speed 1/10s หมดเลยครับ

EOS 100D, ISO 400, ความเร็วชัตเตอร์ 1/10, f/3.2

 

สำหรับการถ่ายภาพแนวนี้สำหรับวัตถุอย่างอื่น ก็เช่น การถ่ายขณะขี่จักรยาน โดยการแพนมือตาม ถ้าจักรยานวิ่งเร็ว ก็อาจใช้ความเร็วที่สูงหน่อย เช่น 1/30 แต่อย่างในภาพ ขี่ช้า ๆ ผมใช้ 1/13s ก็ออกมากำลังดีครับ ภาพอื่นที่ใช้ความเร็วแตกต่างจากนี้ บางทีก็เบลอทั้งภาพ (ลบทิ้งไป) หรือบางทีก็ดูเหมือนหยุดนิ่งทั้งภาพ (ชัดไป ไม่สวย) 

Nikon D800, ISO 200, ความเร็วชัตเตอร์ 1/13, f/1.4

สำหรับการถ่ายรถแข่ง หรือมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งเร็ว ๆ อันนี้เราลอง 1/40 หรือ 1/50 ดูนะครับ ลองไปยืนข้างถนนแล้วก็แพนตามวัตถุถ่ายดู . . . ถ่ายมา 2-3 ก็รู้แล้วครับว่าความเร็วที่เราเลือกนั้น เหมาะกับภาพชนิดนั้นหรือเปล่า

ยังไงเพื่อน ๆ พี่น้องก็ลองไปแพนกล้องถ่ายภาพเล่นกันดูนะครับ ได้ภาพยังไง ผมทำ ชุมชนคนชอบภาพ Motion Blur ไว้ใน Google+ นี่แล้วนะครับ ลองเอาไปโพสต์โชว์กันที่นั่นได้นะครับ

สวัสดีนะครับ


Canon S120

กล้อง Canon PowerShot S120

วันนี้เราจะมารีวิวกล้องคอมแพค Canon PowerShot S120 ซึ่งเป็นกล้องคอมแพคที่มีเซนเซอร์ใหญ่กว่ากล้องคอมแพคธรรมดาทั่วไป ซึ่งรุ่นที่มีเซนเซอร์ใหญ่นี้ ก็มีเพียงตระกูล S กับตระกูล G เช่น G12, G15, G16 เท่านั้น

ถ่ายดอกบัว ด้วย Canon S120

ชื่อเต็ม ๆ ของกล้องตัวนี้คือ Canon PowerShot S120 เป็นกล้องตระกูล S ต่อเนื่องจาก S90, S95, S100, S110S120 จริง ๆ แล้วผมใช้กล้องตระกูลนี้มาตั้งแต่ S45 เมื่อวานนี้เปิดภาพเก่า ๆ 10 กว่าปีที่แล้วมาดู ก็ถือว่าสวยใช้ได้ กล้องรุ่นนี้เป็นกล้องที่มีเซนเซอร์ขนาด 1/1.7 นิ้ว ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในตระกูลกล้องคอมแพค (ซึ่งเท่ากับกล้องตระกูล G เช่น G11, G12, G15G16) เอาล่ะครับ พอทราบข้อมูลคร่าว ๆ ของกล้องกันแล้ว

เนื่องจากท้องฟ้าสวยมาก วันนี้เราจะไปวัดด่านกัน อยู่ถนนรัชดาภิเษก เลียบแม่น้ำเจ้าพระยานะครับ ใกล้กับสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม ก่อนถึงนิดเดียว

วัดด่าน วันฟ้าใส

วันนี้โหมดที่ใช้มี 3 โหมดคือ โหมด Full Auto (สีเขียว), โหมด P (แล้วชดเชยแสงไปทางลบหรือบวก) และโหมด HDR (High Dynamic Range)


เข้าไปในวัดปั๊ป เจอจุดนี้ ขอลองถ่ายย้อนแสงแบบเต็ม ๆ หน่อย อันนี้ใช้โหมดสีเขียว (อัตโนมัติทั้งหมดไปเลย) ลองดูซิว่า ถ้ากดลูกเดียว ไม่ปรับอะไรเลย ภาพจะออกมายังไง

ภาพก็ออกมาโอเคนะ สวยใช้ได้

ลองถ่ายหลาย ๆ มุมดูบ้าง

การพลิกกล้อง เอียงกล้อง ถ่ายในท่าต่าง ๆ นั้น ทำได้สบายกว่า DSLR เยอะครับ เพราะเบา ไม่หนัก แล้วก็ไม่ต้องมองผ่านช่องมองภาพด้วย ดูจาก LCD ได้เลย


อันนี้เข้าไปไหว้พระใหญ่ แต่เนื่องจากที่วัดเอาผ้าใบสีประหลาด ๆ มาขึงบังแดดไว้ บริเวณนั้นสีจึงเพี้ยนไปหมด สีก็ออกมาอย่างในรูปนี่แหละครับ (ระบบออโต้)


เนื่องจาก S120 เป็นกล้องคอมแพค ดังนั้นจะไปหวังการละลายฉากหลังอะไรต่าง ๆ ไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงต้องเล่นกับมุมมอง ที่แปลกตา พยายามหาทั้งฉากหน้าและฉากหลังแปลก ๆ มาใช้ เพื่อทำให้ภาพดูน่าสนใจขึ้น (นิดนึง)

พยายามใช้ใบไม้ และสิ่งต่าง ๆ ช่วยเสริม

ถ่ายไปถ่ายมา เก็บบรรยากาศการหล่อเทียนพรรษาให้ชมก่อนดีกว่า

อันนี้เป็นแท่งหล่อเทียน

มีหม้อต้มเทียนอยู่ตรงกลาง 

อันนี้ใส่ไส้เทียนไว้ตรงกลาง เอาไว้จุด

วิธีการ เราใช้เหรียญเทียนตามปีเกิดเรา

มีให้เลือกทุกปีนะครับ

แบบเป็นแท่งก็มี

นี่เป็นอุปกรณ์ตักเทียนมาหล่อ

ก่อนจะโยนเทียนไปหลอมในหม้อ เขียนชื่อ-นามสกุลก่อน

อันนี้หลวงพี่มาแนะนำขั้นตอนนะขอรับ

นี่เป็นอุปกรณ์ตักเทียนหลอมเหลวมาเทลงไปในที่หล่อเทียน

อีกมุมหนึ่ง

เอาล่ะครับ ไปชมบรรยากาศการหล่อเทียนมาพอสมควรแล้ว คราวนี้ผมจะลุยกลางแดด (เปรี้ยงๆ) ไปทดสอบกล้อง S120 นะครับ


นี่เป็นภาพถ่ายกลางแจ้งสุด ๆ เลยนะครับ สีสดสวยดี เนื่องจากเราใช้กล้องคอมแพค คุณภาพจะสู้ DSLR ไม่ค่อยได้ ดังนั้นจึงต้องทำมุมมองให้แปลกตานิดหน่อย อันนี้ผมถ่ายจากมุมต่ำนิดหน่อยนะครับ (แต่อยู่นานไม่ไหว พื้นร้อนมาก)


ภาพนี้เปลี่ยนโหมดเป็น HDR เพื่อเปิดเงาต่าง ๆ ที่มืดเกินไปให้หมดทุกแห่ง ภาพก็ดูสีสดสวยดี ภาพชัด คม เหมาะสำหรับการลงโซเชียลเน็ตเวิร์กได้สบาย ๆ

ถ่ายจากระยะไกลเข้ามา

ยิงให้ติดบ้านทรงไทยและสะพานแขวนด้วย

มาถ่ายอีกด้าน

ใช้ระยะเทเลถ่ายนะครับ ให้ติดหัวยักษ์ด้านหลัง

พยายามให้ติดหัวยักษ์ด้านหลังอีกภาพ

สีออกมาสดใสดี นี่ใช้ระบบ Auto หมดนะครับ



อันนี้ลงไปนั่งถ่ายเกือบติดพื้น เพื่อให้ภาพอลังการนิดหน่อยเท่าที่สามารถทำได้

หลังจากที่ใช้ถ่ายมาหลายวันแล้ว และถ่ายกันอย่างเต็มที่ ทุกซอก ทุกมุมภายในวัดแล้วนะครับ ผมเขียนสรุปข้อดี ข้อด้อยของกล้อง Canon S120 ไว้ตรงนี้เลยนะครับ

ข้อดีกล้อง PowerShot S120
- เบา สบาย ไม่หนัก
- ซูมได้หลายระยะในตัวเลย
- มีจอหลัง สามารถถ่ายในมุมแปลก ๆ ได้ง่ายกว่า DSLR
- ระบบ Auto ทำงานได้ดี ให้ภาพสีสวย สดใส
- ระบบ Wifi Direct ถ่ายปั๊ป เอาภาพเข้ามือถือปุ๊ป และแชร์ได้เลย
- มีฟังก์ชั่นของเล่นพิเศษในกล้องเยอะ เช่น ฟิลเตอร์แต่งภาพในตัว โหมดดูดสี ฟิชอาย ถ่ายให้เหมือนของเล่น หรือจะเป็น HDR และอื่น ๆ อีกมากมาย

ข้อด้อย
- สถานที่ซึ่งมีแสงน้อย คาดหวังคุณภาพไม่ค่อยได้มาก แต่ก็ดีกว่ากล้องคอมแพคทั่วไปเยอะ
- ภาพไม่คมเท่ากล้อง DSLR ถ้าซูมเข้าไปมาก ๆ จะเห็นชัดเลย
- โฟกัสช้ากว่า DSLR ข้อนี้เป็นกับกล้องทุกประเภท ขนาดพวก Mirrorless ยังเทียบ DSLR ไม่ได้
- ละลายฉากหลังยาก หรือแทบจะทำไม่ได้เลย ดังนั้นถ่ายนางแบบ พริตตี้ แบบเน้น ๆ จะหวังอะไรไม่ค่อยได้

สรุปจากการไปถ่ายครั้งนี้ Canon PowerShot S120 นี่ ก็ถือว่าเป็นกล้องที่ถ่ายสบาย ถ่ายสวย เบา ๆ ไม่ต้องเหนื่อยมากเหมือนพกกล้องใหญ่ สามารถถ่ายในมุมมองแปลก ๆ ได้พอสมควร ถ่ายได้ทั้งระยะซูมและเทเล สบาย ๆ ถ้าเกิดเป็นสถานที่ที่แสงสว่างมากแล้ว ไม่มีปัญหาเลยครับ ถ่ายสวยไม่สวย อยู่ที่มุมมองของเราอย่างเดียวเลย แต่ถ้าจะถ่ายนางแบบหรือสาว ๆ แบบเน้น ๆ แบบสวยเทพ อันนี้คงต้องใช้ DSLR อย่างเดียวแล้วครับ . . .