วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การถ่ายภาพย้อนแสง

เมื่อกี้ขับรถขึ้นทางด่วนไปวิภาวดี จากที่เมื่อก่อนไม่ค่อยได้สังเกตอะไรเท่าไหร่ เมื่อกี้สังเกตป้ายโฆษณาไปตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็นรูปดารา โฆษณารถยนต์ หลายอย่าง ปรากฏว่า มากกว่า 70-80% เป็นการถ่ายภาพโดยให้แสงหลักมาจากข้างหลัง และใช้แหล่งกำเนิดแสงอีกแหล่ง ยิงไปข้างหน้า เพื่อเปิดเงา พอดีตรงกับหัวข้อที่ผมกำลังจะเขียนบทความ ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังครับ

การถ่ายภาพย้อนแสง

ลักษณะการถ่ายภาพแบบมืออาชีพเพื่อลงโฆษณา สงสัยจะเป็นเคล็ดลับที่ไม่เปิดเผยมานาน เพราะแต่ไหนแต่ไร เราเคยได้ยินประจำว่า อย่าถ่ายย้อนแสง เพราะการถ่ายภาพย้อนแสงนั้นจะให้ให้ตัวแบบหน้าดำและได้ภาพที่ไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วการถ่ายภาพบุคคล หรือแม้กระทั่งถ่ายวัตถุอื่นย้อนแสงนั้นมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ โดยเราจะได้ประกายของเส้นผม และได้การตัดขอบโดยใช้แสงแบบธรรมชาติ ไม่ได้สร้างจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้ภาพดูโดดเด่น และน่าสนใจยิ่งขึ้น (คือดูมีมิติ ตัวแบบไม่จม)


สิ่งดี ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการถ่ายภาพย้อนแสง แต่มีเทคนิคเล็กน้อย ซึ่งช่วยปรับปรุงภาพของเราให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น แก้ไขไม่ให้ตัวแบบนั้นหน้าดำซึ่งวิธีแก้นั้นจะมีอยู่ 3 วิธีด้วยกันได้แก่
  1. ชดเชยแสงไปทางบวก (มากน้อย แล้วแต่สถานการณ์) ในลักษณะนี้ ส่วนมากฉากหลังจะสว่างจนโอเวอร์ไปเลย ซึ่งบางสถานการณ์ ก็ให้ภาพที่สวย แปลกตาดีเหมือนกัน แต่บางสถานการณ์ก็ไม่สวย ยังไงคงต้องดูตามสถานการณ์ด้วยนะครับ
  2. ใช้การฟิลแฟลชช่วยเติมแสงที่ด้านหน้า ถ้าจะให้ดี ให้ใช้แฟลชแยก โดยสั่งการจากตัวสั่งการไร้สาย ไม่ว่าจะสั่งด้วยระบบอินฟราเรด หรือคลื่นวิทยุก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นระบบอินฟราเรด บางทีในสภาพที่แสงอาทิตย์จ้า ๆ แรงมาก ๆ บางทีอาจกดติดบ้าง ไม่ติดบ้าง 
  3. ใช้รีเฟล็กเตอร์ หรือแผ่นสะท้อนสีขาว หรือสีเงิน เพื่อทำให้หน้าสว่างขึ้น ( วิธีนี้จะให้แสงที่นุ่มและมีมิติมากกว่าการใช้แฟลชธรรมดา แต่ต้องมีคนช่วยถือให้ หรือมีที่แขวนรีเฟล็กเตอร์)
แสงอยู่ด้านหลังตัวแบบ ทำให้รู้สึกเหมือนมีออร่า

บางสถานการณ์ที่เราไม่ได้เตรียมแฟลชหรือรีเฟล็กเตอร์ไป หากต้องการถ่ายย้อนแสงจริง ๆ ก็สามารถหารีเฟล็กเตอร์ธรรมชาติที่อยู่แถว ๆ นั้นได้ เช่น กำแพงสีขาว ถือเป็นรีเฟล็กเตอร์ชั้นดีที่จะทำให้ภาพออกมาสวยทีเดียว หรือเพื่อน ๆ ที่ไปด้วยกันที่ใส่เสื้อสีขาว ให้ไปยืนใกล้ ๆ ตัวแบบที่เราจะถ่าย แล้วใช้แสงสะท้อนจากบนเสื้อสีขาว เพื่อสะท้อนแสงให้เปิดเงาบริเวณหน้าของตัวแบบ เป็นต้น หรือร่มหลังรถ (ซึ่งคิดว่าต้องมีติดอยู่ในรถทุกคันอยู่แล้ว) ถ้าบังเอิญร่มที่เราพกไว้เป็นสีขาว หรือสีเงิน ก็สามารถนำมาใช้เป็นรีเฟล็กเตอร์แก้ขัดได้ดีพอสมควรทีเดียว หรือแม้แต่หาไม่ได้ บางทีแค่ใช้กระดาษ A4 สีขาว หรือหนังสือเล็ก ๆ แค่เล่มเดียวเป็นรีเฟล็กเตอร์ ยังช่วยให้ภาพสวยขึ้นได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์


อย่างภาพนี้ แสงมาจากด้านหลัง เฉียงนิดหน่อย เราก็ใช้รีเฟล็กเตอร์ในทิศที่ตรงข้ามกับแสง สะท้อนแสงเข้าหน้า เพื่อเปิดเงา ในกรณีนี้ ผมแสดงให้เห็นเลยว่าใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสีขาว ที่เด็ก ๆ ใช้ทำงานส่งโรงเรียนเป็นรีเฟล็กเตอร์ แผ่นก็เล็ก ๆ เอง ไม่ได้ใหญ่อะไรมากมาย

สำหรับเนื้อหาในบทความต่าง ๆ ในบล็อกของผม จะเน้นการใช้อุปกรณ์ หรือสิ่งที่หาได้ง่าย ๆ นะครับ ซึ่งสำหรับมืออาชีพ เค้าจะมีการจัดแสง ยกระบบไฟขนาดใหญ่ มีแบตเตอรี่จ่ายเข้าไฟสตู หรือมีเครนขนาดใหญ่ที่สามารถจัดแสงได้ตามที่เค้าออกแบบไว้เป๊ะ ๆ แต่อย่างผม ถ่ายเพื่อความบันเทิง เดินไปถ่ายไป เจออะไรสวยก็ถ่าย ไม่เจอก็ไม่ได้ถ่าย หรือเป็นมือสมัครเล่น คงไม่ลงทุนถึงขนาดนั้นครับ . . .

ในบล็อกถัดไป ผมจะอธิบายการทำริมไลท์ที่เส้นผม ที่เห็นเป็นประกาย ๆ สีทองนั่นแหละครับ . . . ไว้พบกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น