วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ขั้นตอนการถ่ายภาพบุคคล

ผมเคยอธิบายการปรับค่ากล้องต่าง ๆ ไปมากแล้ว ทั้งการถ่ายภาพบุคคล การทำโบเก้ การถ่ายชัดตื้นชัดลึก การใช้แฟลชแยก การใช้รีเฟล็กซ์ การใช้เจลสี การถ่ายในสตูดิโอ การย้อนแสง . . . และเทคนิคอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าใครติดตามอ่านมาเรื่อย ๆ ป่านนี้นะจะปรับกล้องเก่งกันทุกคนแล้วนะครับ ส่วนใครยังปรับกล้องไม่เก่ง หรือคุมกล้องยังไม่อยู่ ให้ลองอ่านทบทวนในบล็อกเก่า ๆ ของผมนะครับ มีเขียนไว้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายภาพ การปรับค่ากล้อง โดยดูได้ที่ www.suaythep.com (บล็อก) หรือ www2.suaythep.com (เว็บ)


วันนี้ ผมจะอธิบายถึงการถ่ายภาพบุคคล หลายคนก็งง????  เอ๊ะ จะมาอธิบายอะไรอีก ก็เขียนไปหมดแล้วนี่ . . . คือว่า วันนี้จะมาเสริมครับ ส่วนมากการถ่ายภาพนี่ไม่ยากหรอกครับ แต่ภาพจะออกมาแตกต่างกัน ระหว่างมืออาชีพ กับมือสมัครเล่น ก็ตรง "อารมณ์ของภาพ" ภาพ 2 ภาพ บางภาพเป๊ะทุกอย่าง แต่ออกมาแข็ง อีกภาพ การตั้งค่าเหมือนกันเด๊ะ แต่ดูแล้วมีอารมณ์ หรือได้อารมณ์ เวลาดูแล้วมันต่างกันนะครับ . . . เอาง่าย ๆ แค่การยิ้ม ยิ้มเมื่อถูกบอกให้ยิ้ม กับยิ้มเองตามธรรมชาติ มันให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันครับ . . . ตอนหัดถ่ายภาพใหม่ ๆ เคยส่งภาพประกวดภาพแสดงอารมณ์ . . . ทำได้เละตุ้มเป๊ะมากครับ เป็นอารมณ์ประดิษฐ์ล้วน ๆ ครับ

เอาล่ะครับ เกริ่นไปพอสมควรแล้ว เอาเป็นว่าผมสรุปเป็นขั้นตอนในการถ่าย Portrait หรือการถ่ายภาพบุคคล 5 ขั้นตอน ดังนี้เลยนะครับ จะได้เข้าใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

1. ช่วงถ่ายเริ่มต้น (Beginning) ถ่ายเริ่มแรกเพียงแค่ไม่กี่ภาพพอ ช่วงนี้คนที่เราถ่ายให้จะเกร็ง ๆ ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เป็นกันทุกคน คนไม่คุ้นเคยกัน หรือคนรู้จักกัน เวลาถ่ายรูปให้กันแล้ว ยังไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง

แม้แต่คนที่เป็นเพื่อนกันมา 20 ปี (แต่ไม่เคยถ่ายภาพให้กัน) พอเจอกัน บางทีให้ทำท่าโน้นท่านี้ ยังเกร็ง ๆ เขิน ๆ อาย ๆ กันเลยครับ

2. ช่วงละลายน้ำแข็ง (Ice Breaking) การถ่ายภาพก็เหมือนกับกิจกรรมทุกอย่างแหละครับ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ถ่าย (เรา) และผู้ถูกถ่าย (คนที่จ้างเรา หรือเพื่อนเรา) ดังนั้น ถ้ามีความคุ้นเคยกัน ผลงานก็จะออกมาดี เป็นธรรมชาติ สวย . . . คนดูชอบ! นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องการ

ดังนั้นในช่วงนี้ เราจะมีการพูดคุย ทำความคุ้นเคย คุยไปถ่ายไป ทำให้เป็นกันเอง . . . หลายครั้งที่ เราแอกชั่นท่า หรือโพสท่า (ที่เราเตรียมไว้) ให้นางแบบนายแบบดู ว่าต้องทำท่าอย่างนั้น อย่างนี้ ถึงจะออกมาดูดี (บางทีท่าของเราอาจโอเวอร์เล็กน้อย เพื่อให้บรรยากาศการร่วมงานครื้นเครงมากขึ้น) ช่วงนี้อาจยังไม่ถ่ายมาก เน้นพูดคุยให้สนุกสนาน อาจเสียเวลาตรงนี้สัก 30 นาทีหรือชั่วโมงนึง โดยถ่ายภาพได้ไม่กี่ภาพ . . . หรืออาจไม่ได้ภาพดี ๆ เลยซักภาพ . . ใจเย็น ๆ ถือเป็นเรื่องปกติครับ

3. ช่วงถ่ายแหลก (Photo Taking) ช่วงนี้นายแบบนางแบบจะชินกับเราแล้ว บอกให้โพสท่าอะไรก็จะโพส บางทีไม่ได้บอกให้โพส ยังคิดท่าสวย ๆ แปลก ๆ และเป็นธรรมชาติขึ้นมาเอง . . . สำหรับการถ่ายภาพให้คนอื่น ผมแนะนำให้มีช่างภาพรองอีกคนนึง ใส่เลนส์ซุปเปอร์เทเล่ไว้ แล้วแอบถ่ายเข้ามาจากระยะไกล โดยไม่ต้องนับนะครับ จะได้ภาพที่ดูเป็นธรรมชาติมาก ๆ เลยครับ ส่วนเราที่เป็นตากล้องหลัก ก็ถ่ายในระยะที่ไม่ไกลมาก ถ่ายไปเรื่อย ๆ แพล็บเดียวจะได้ภาพเป็นร้อย ๆ ภาพ

4. ช่วงพัก (ฺBreak) . . . พอถ่ายเยอะ ๆ ก็จะเหนื่อยครับ เพราะการแอกชั่นต่าง ๆ นั้นใช้พลังงานพอสมควรเลยครับ ไม่เหมือนกับการยืนถ่ายเฉย ๆ (ไม่ได้ออกแรง) ดังนั้นเราต้องมีช่วงให้คนที่เราถ่ายให้พักด้วย อาจเป็นช่วงสั้น ๆ ในหว่างที่พักดื่มน้ำอะไรกันนิดหน่อย เราก็อาจพูดคุยกัน ว่าต้องการภาพแบบไหนอีก มีการโชว์ภาพที่เราถ่ายให้ตัวแบบดูบางส่วน ว่าเราถ่ายออกมาได้เป็นธรรมชาติ และสวยขนาดไหน (โม้เล็กน้อย 5 5 5) ไม่กี่นาที คนที่ให้เราถ่ายจะปิ๊งไอเดียเก๋ ๆ ออกมาอีกเพียบเลยครับ

นอกจากนี้ ในระหว่างที่พัก ช่างภาพรองของเรา อาจนั่งอยู่ไกล ๆ ถ่าย candid เพื่อเก็บภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ ก็เป็นความคิดที่ไม่เลวเหมือนกันนะครับ

ขณะที่พัก อาจให้นางแบบ-นายแบบซับเหงื่อ หวีผม เติมหน้าเติมตา ให้ดูสดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับช่วงต่อไปนะครับ

5. ช่วงถ่ายต่อ (Continue Shooting) . . . เมื่อพักหายเหนื่อย ก็กลับมาถ่ายต่อ ตามที่นายแบบนางแบบคิดไว้ระหว่างที่พัก และถ่ายไปเรื่อย ๆ จนเก็บภาพได้ครบทุกรูปแบบตามต้องการ ก็ถือเป็นอันเสร็จพิธีครับ

ปล. ที่เล่าให้ฟัง เล่าจากประสบการณ์นะครับ (คิดขึ้นเอง) ยังไงเพื่อน ๆ พี่น้องหากคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ ก็สามารถทำตามได้ ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์แต่อย่างใดนะครับ ส่วนช่างภาพมืออาชีพท่านอื่น อาจมีเทคนิคอะไรดี ๆ อีก อันนี้ตัวผมเอง ก็ต้องขอศึกษาเพิ่มเติมด้วยครับ ความรู้ด้านการถ่ายภาพต้องศึกษาไปเรื่อย ๆ เหมือนความรู้สาขาอื่นครับ ไม่มีวันเรียนจบครับ

* ถ้าชอบเทคนิคการถ่ายภาพ และรูปที่ผมถ่าย ช่วยทวีต และแชร์ใน G+ หรือเฟซบุ๊ค หรือ IG ด้วยนะครับ (แชร์ได้เต็มที่)
* ผมจะพยายามเขียนเทคนิคการถ่ายภาพเท่าที่ศึกษามา และประสบการณ์ส่วนตัวในการถ่ายสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพออกมากันสวย ๆ นะครับ http://blog.suaythep.com  (จำง่าย ๆ บล็อก.สวยเทพ.คอม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น