วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ถ่ายภาพกระโดด

JUMPING TIME

หลายคน เวลาดูภาพเพื่อน ๆ ไปเที่ยวทะเล หรือสถานที่สวย ๆ ต่าง ๆ มักจะเห็นภาพเพื่อน ๆ เรากระโดดค้างอยู่ในอากาศ ทำท่าทางต่าง ๆ ที่ดูสนุกสนาน (กว่าความเป็นจริง) เพื่อยั่วให้เราอยากไปเที่ยวที่นั่นบ้าง

วิ่งไป โดดลอยจากพื้นไป

จริง ๆ แล้วการถ่ายภาพกระโดด ก็เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานมากเวลาเราไปเที่ยว และภ่ายภาพไปพร้อม ๆ กัน แต่มีข้อควรระวัง และเทคนิค พร้อมเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังที่ผมจะมาเล่าประสบการณ์ให้อ่านกันในวันนี้นะครับ . . .

ภาพกระโดด

การจับภาพคนอื่นกระโดด

ในวันนี้ ผมจะมาอธิบายวิธีการถ่ายภาพกระโดด หรือภาพอะไรก็ตามที่ลอยค้างในอากาศ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพวันหยุดพักผ่อน หรือสถานที่ท่องเที่ยวมาแชร์กัน เพื่อความสนุกสนานมากยิ่งขึ้นครับ


การกระโดดเอง

หลักการพื้นฐาน
ต้องใช้เทคนิค Stop Action ซึ่งผมเคยอธิบายไปแล้วในบล็อกแรก ๆ เลย โดยมีปัจจัยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ดังนี้
- แสงต้องมาก (แสงน้อยถ่ายยากครับ ถ้าต้องถ่ายจริง ต้องใช้แฟลช)
- ควรถ่ายตามแสง (ย้อนแสงก็ได้ เดี๋ยวค่อยอธิบายเพิ่มครับ เดี๋ยวยาวเกิน) เพื่อให้สีสันฉากหลังสดใส และตัวแบบหน้าไม่ดำ

กระโดดคู่

วิธีการปรับกล้อง (แบบง่าย ๆ) ในนี้เราเน้นมือใหม่ครับ ผมจะพยายามอธิบายให้ปรับง่ายที่สุด สำหรับมือระดับพระกาฬ เขามีวิธีเฉพาะของเขาเองครับ แต่ละคนไม่เหมือนกัน เพื่อน ๆ ผมในก๊วนถ่ายภาพ ปรับไม่เหมือนกันซักคน คนละสูตร แล้วแต่ภาพปลายทางว่า เค้าต้องการออกแบบมาให้เห็นอย่างไร

กระโดดลงน้ำ แต่ดูเหมือนเดินลงไป

ขั้นตอน
- ใช้เลนส์ออกไปทางเลนส์ไวด์นิดหน่อย ถ้าเป็นเลนส์เทเล ให้ถอยไกล ๆ เลย เดี๋ยวกระโดดแล้ว จะหลุดเฟรม หัวขาดกันหมด . . .
- โหมดวัดแสง ใช้แบบเฉลี่ยทั้งภาพนะครับ ปกติก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว ไม่ต้องไปยุ่งมัน
- ปรับกล้องเป็นโหมด TV สำหรับ Canon (โหมด S สำหรับ Nikon) และใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ ไปเลย เช่น 1/1000, 1/500 หรือ 1/200 ถ้าแสงมาก ๆ ก็ใช้สูง ๆ ไปเลย ภาพนิ่งแน่นอน แต่ถ้าแสงน้อย ปรับเหลือ 1/200 ก็พอได้ แต่ให้กระโดดหลาย ๆ รอบเพื่อถ่ายหลาย ๆ ครั้งหน่อย เพราะบางทีถ่ายออกมานึกว่าชัดแล้ว ปรากฏกลับมาโหลดเข้าคอมแล้วซูมดู ปรากฏไม่ชัดเป๊ะ มีเบลอนิดหน่อย

ลงไปใกล้ ๆ พื้น เพื่อสร้างภาพลวงตาว่า โดดสูงกว่าปกติ

- การจัดองค์ประกอบ ให้เว้นที่เผื่อกระโดดข้างบนไว้ด้วย
- ให้ตัวแบบไปยืนที่จะกระโดด แล้วเราโฟกัสที่แบบ พอได้โฟกัสแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นแมนนวลโฟกัสครับ เพื่อล็อคโฟกัสไว้เลย ไม่ต้องโฟกัสแล้ว จากนี้ไปตรงนี้จะชัดทุกภาพ แต่ถ้าเปลี่ยนตำแหน่ง ต้องโฟกัสใหม่นะครับ

ท่าประจำ

เพียงเท่านี้เองครับ เสร็จแล้วสำหรับการตั้งค่ากล้อง
คราวนี้มาพูดถึงการกดชัตเตอร์บ้าง มี 2 แบบ
- ถ่ายภาพเดียวเด็ด ๆ ไปเลย จับจังหวะ
- ถ่ายต่อเนื่องเป็นชุด โดยการปรับเป็นโหมดถ่ายต่อเนื่อง แล้วกดชัตเตอร์ค้างไว้ เพื่อถ่ายเป็นชุดหลาย ๆ ภาพต่อเนื่องไปเลย

โดดเบา ๆ ธรรมดา ๆ

สำหรับตัวผม ชอบจับจังหวะสวย ๆ ทีเดียวหรือ 2 ทีมากกว่า . . . อันนี้แล้วแต่ชอบนะครับ


ข้อควรระวังในการถ่ายภาพกระโดด
อันนี้จากประสบการณ์ตรงที่เกิดกับตัวเองเลยนะครับ
- หัวเข่า ถ้าไม่ฟิตจริง โดดแค่ 2-3 ทีก็พอครับ โดย 10 กว่ารอบ เขาจะกระแทก ทำให้เจ็บเข่าได้
- หลัง ต้องรู้จักท่ากระโดดด้วย แรก ๆ อาจโดดเบา ๆ ก่อน เพื่อฝึก ถ้าทำท่าผิด อาจปวดหลังไปเป็นอาทิตย์เลยนะครับ


- กางเกง ภาพด้านล่างนี้ผมโดดเต็มที่เลยที่ Seoul Tower เกาหลีใต้ โดดไปปั๊ป . . . เสียงดัง "แคว่ก"  ดังมาก ๆ กางเกงขาดตรงเป้า  5 5 5 โชคดี วันนั้นเดินทางกลับเมืองไทยพอดี กระเป๋าเดินทางอยู่ใต้รถทัวร์ เลยไปเอากางเกงใหม่มาเปลี่ยนได้ ไม่ต้องใส่กางเกงขาด ๆ ไปทั้งวัน

ท่านี้แหละ ที่ทำให้กางเกงขาดทันที

เทคนิคท้ายสุด ถ้าต้องการหลอกตาให้ดูว่ากระโดดสูงกว่าปกติ เราอาจย่อตัวลงไปถ่ายต่ำ ๆ เป็นมุมเงย ภาพก็จะหลอกตาว่าโดดสูงกว่าธรรมชาตินะครับ

โดดจากเก้าอี้

* ถ้าชอบเทคนิคการถ่ายภาพ และรูปที่ผมถ่าย ช่วยทวีต และแชร์ใน G+ หรือเฟซบุ๊คด้วยนะครับ
* ผมจะพยายามเขียนเทคนิคการถ่ายภาพเท่าที่ศึกษามา และประสบการณ์ส่วนตัวในการถ่ายสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพออกมากันสวย ๆ นะครับ blog.uaythep.com แชร์ด้วยใจ. . .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น