วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เล่าประสบการณ์ การถ่ายภาพที่ฮาร์บิน

วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์ถ่ายภาพในที่หนาวจัดสุด ๆ เลยนะครับ โดยจะเล่าประสบการณ์การถ่ายภาพในที่อุณหภูมิติดลบมาก ๆ ซึ่งในที่นี้ก็ประมาณ -20 ถึง -30 เซลเซียสครับ

ฮาร์บิน ที่ -30°C

ปัญหาการถ่ายในที่เย็นจัด หรือหนาวสุดขั้ว

ปัญหาสำหรับการถ่ายในที่หนาวจัด มี 2 อย่างด้วยกันนะครับ
- บอดี้กล้องกับเลนส์ ไม่มีปัญหาครับ ส่วนมากจะเป็นที่แบตเตอรี่มากกว่า
- คนถ่าย ส่วนมากมักมือแข็งจนกดไม่ได้ ถ้าใส่ถุงมือหนา ๆ ก็กดชัตเตอร์ยาก ถ้าถอดถุงมือ ก็เจอปัญหามือแข็งอีก แค่ -10°C ถ่ายภาพแค่ไม่กี่ภาพ ก็ไม่อยากถ่ายแล้ว มือมันแข็งครับ

เทศกาลหิมะ ที่ฮาร์บิน

สำหรับการถ่ายที่ไม่หนาวจัดมาก เช่น เดนเวอร์ (Denver), มิลวอกี้ (Milwaukee), ชิคาโก (Chicago) หรือเป็นเทือกเขาร็อคกี้ บริเวณยอดเขาที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 2 ไมล์ (หนาวจัดด้วย) ผมลองมาหมดแล้ว อากาศ -10°C แบตเตอรี่ไม่มีปัญหาครับ ถ่ายได้เรื่อย ๆ ยังไม่เคยเจอปัญหาแบตหมดซักที กล้องแขวนบนคอด้วย ไม่ได้ซุกเข้าในเสื้อหนาวแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นที่ฮาร์บิน (Harbin) หรือที่ซัพโพโร ที่มีการจัดเทศกาลน้ำแข็งทุกปี และคนไทยนิยมไปกันมาก ช่วงหนาวจัด ๆ นี่ -35°C แบตเตอรี่เอาไม่อยู่ครับ จะหมดเร็วมาก (ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ยังไม่หมด แต่กล้องฟ้องว่าหมด)

ฮาร์บินที่ -25°C

เทคนิค การถ่ายในที่เย็นสุดขั้ว

วิธีการก็คือ เราต้องมีแบตเตอรี่สำรองอีกก้อนนึงครับ ใส่กระเป๋ากางเกงไว้ ให้แบตเตอรี่อุ่นจากไอร้อนในตัวเรา จากนั้น เวลาแบตเตอรี่ที่อยู่ในกล้องมันเย็นจัด กล้องก็จะขึ้นข้อความว่า แบตหมด หรือแบตอ่อน ให้เราเปลี่ยนเอาแบตเตอรี่ก้อนที่อยู่ในกางเกงเราใส่แทน แล้วเอาแบตที่เย็น ๆ มาใส่กระเป๋ากางเองเรา (ให้ความอบอุ่นกันต่อไป) ทำอย่างนี้สลับไปเรื่อย ๆ เราก็สามารถถ่ายภาพในสถานที่หนาว -25°C ถึง -35°C ได้เหมือนปกติแล้วครับ

ฮาร์บินช่วงกลางคืน ที่ -30°C 

อีกอย่างที่สามารถทำได้คือ เวลาถ่ายเสร็จในสถานที่หนึ่ง อาจจะ 4-5 รูป พอเราจะเดินไปที่อื่น ให้รูดซิปเสื้อหนาวตัวนอกสุดเราออก แล้วเอากล้องยัดเข้าไปข้างใน ให้มันซุกและรับความอุ่นอยู่ในตัวเรา . . . อย่าลืมรูดซิปปิดด้วยนะครับ จากนั้น พอไปถึงสถานที่ใหม่ที่ต้องการจะถ่าย ค่อยรูดซิปเปิดเอากล้องออกมา ทำอย่างนี้ กล้องก็จะถ่ายได้เรื่อย ๆ ครับ วิธีนี้ผมใช้สำหรับอุณหภูมิประมาณ -25°C หรือหนาวกว่านั้นครับ อย่าง -5°C หรือ -10°C นี่ สบายๆ ไม่ต้องทำอย่างนี้

สำหรับคนที่ไปเที่ยวกับบริษัททัวร์ ไอน้ำและการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ คือศัตรูที่มองไม่เห็น

ไอน้ำที่เกาะกระจกรถทัวร์ 

เคล็ดลับข้อสุดท้ายที่จะนำมาฝากในวันนี้คือ พอเราถ่ายในที่หนาวจัดไปเรื่อย ๆ ตัวกล้องเราจะเย็นสุดขั้วเลยนะครับ สมมติว่าเราเดินทางไปกับบริษัททัวร์ ที่ไม่รถทัวร์มารับ พวกรถทัวร์พวกนี้ เขาจะติดเครื่องทิ้งไว้ เปิดฮีตเตอร์ (เครื่องทำความร้อน) ไว้ตลอดเวลานะครับ เวลาคนขึ้นมา จะได้อุ่นทันทีครับ คราวนี้ตัวกล้องของเราก็จะอุ่นตามไปด้วย ดังนั้น พอกล้องขึ้นรถปั๊ป พวกฝ้า ไอน้ำ จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ เกาะกล้องของเราเต็มไปหมด (ผมเคยพลาดทีนึง ตอนไปฮาร์บินครั้งแรก เลยเอาประสบการณ์มาเล่า เพื่อน ๆ พี่น้องจะได้ไม่พลาดอย่างผม)

ไอน้ำในอากาศ ที่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ที่จะทำให้กล้องเสีย

ดังนั้น ก่อนที่เราจะขึ้นรถ เราต้องใส่กล้องลงในถุงพลาสติก (บาง ๆ ยิ่งบางยิ่งดี เพราะพับเก็บสะดวก) บางทีผมใช้ถุงขยะเลยครับ บางดี แล้วรวบปากถุงให้เรียบร้อย ไม่ให้อากาศอุ่นในรถทัวร์เข้าไปในถุงได้ . . . ครั้งแรกที่ผมเจอสถานการณ์นี้ครับ ลืมไปเลยครับ ไปเที่ยวกันเสร็จ พอจะขึ้นรถทัวร์ เดินขึ้นมาเฉย ๆ ไม่ถึง 5 วินาที กล้องฝ้าขึ้นเต็มเลยครับ ไอน้ำก็เกาะกล้องด้วย โชคดีผมเตรียมถุง และศึกษาข้อมูลไว้แล้ว รีบควักออกมาใส่แทบไม่ทัน ถ้ารอไปนาน ๆ เดี๋ยวไอน้ำเกาะชิ้นส่วนในกล้องแล้ว ถ้ามันไม่ระเหยไปหมดซะก่อน แล้วเราลงไปที่เย็น ๆ อีกครั้ง ไอน้ำพวกนั้นจะแข็งอีกรอบ ถ้าเกิดไอน้ำไปเกาะในบริเวณสำคัญ แล้วเกิดแข็ง และพอขึ้นรถทัวร์ใหม่ มีไอน้ำมาเกาะเพิ่มมากขึ้นอีก คราวนี้ล่ะครับ กล้องรวนแน่ ๆ และเอาออกยากแน่นอน . . . ถ้าไม่ระวัง 3-4 รอบ กล้องอาจเจ๊งได้เลยครับ แล้วถ้ากล้องเจ๊งตอนไปเที่ยวจะเป็นไงล่ะครับ ไม่ต้องถ่ายรูปกันพอดี

ที่เห็นเป็นดวง ๆ คือ หิมะกระทบแสงแฟลชหัวกล้องเรา

เรานำกล้องใส่ถุงไว้เพียงแค่ 5-10 นาทีก็พอครับ จากนั้นพอกล้องเราเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น เราก็สามารถนำกล้องออกจากถุงได้แล้ว จากนั้นก็เปิดดูรูป ชื่นชมกับภาพที่เราถ่ายมา 5 5 5 อ้อ!!! อย่าลืมพับถุงเก็บไว้ใช้ในคราวต่อไปด้วย พับดี ๆ ระวังถุงขาดนะครับ ไปกับทัวร์ต้องใช้ตลอด . . . ขาดไม่ได้สำหรับการทัวร์ในที่หนาวจัดเลยครับ

ตัวหมากรุกน้ำแข็ง ที่ฮาร์บิน

เหตุการณ์ในลักษณะนี้จะไม่ค่อยเกิดขึ้น หากเราขับรถไปกันเอง หรือไปรถส่วนตัวนะครับ เพราะว่ารถที่เราจอดทิ้งไว้ จะมีอุณหภูมิพอ ๆ กับกล้องเราเลย (เย็นจัดพอ ๆ กัน) ดังนั้น จะไม่มีการเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างฉับพลัน พอเข้ามาในรถ ต้องสตาร์ตเครื่อง แล้วขับไปซักพักถึงจะอุ่น ทำให้อุณหภูมิค่อย ๆ สูงขึ้น . . . ตอนไปทริปอเมริกา ผมไม่เคยเจอปัญหาหยดน้ำเกาะกล้องเลยครับ (ไม่ได้ใส่ถุงตอนขึ้นรถด้วย) เพราะไปรถส่วนตัวตลอด แบบว่าอุณหภูมิไม่เปลี่ยนฮวบฮาบครับ

ด้วยเทคนิคง่าย ๆ ที่ต้องรู้ก่อน เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้ทริปทัวร์เล่นสกี ทัวร์ชมหิมะ หรือปราสาทน้ำแข็งของท่าน มีความสุข และราบรื่นแล้วครับ . . . . ไว้จะมาเล่าประสบการณ์ที่อื่นให้ฟังกันเพลิน ๆ นะครับ

ปราสาทน้ำแข็ง สวยมาก ๆ เลย

ปราสาทพวกนี้ ส่วนมากจะมีสไลเดอร์น้ำแข็งให้เราลื่นลงมานะครับ สนุกดีครับ ถ้ามีโอกาสไป ก็อย่าลืมเล่นด้วยนะครับ

* ถ้าชอบเทคนิคการถ่ายภาพ และรูปที่ผมถ่าย ช่วยทวีต และแชร์ใน G+ หรือเฟซบุ๊คด้วยนะครับ
* ผมจะพยายามเขียนเทคนิคการถ่ายภาพเท่าที่ศึกษามา และประสบการณ์ส่วนตัวในการถ่ายสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพออกมากันสวย ๆ นะครับ blog.suaythep.com แชร์ด้วยใจ. . .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น